ถ้าใครติดตามข่าวน่าจะพอเห็นพัฒนาการขอเทคโนโลยีจอพับมาหลายปี ก่อนที่จะเริ่มออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคได้จริง ๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ คำถามต่อหน้าจอพับจึงหนีไม่พ้นความแข็งแรง ความทนทานและรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม อย่างสมาร์ทโฟนหน้าจอพับรุ่นแรก ๆ ที่ออกมาคือ Galaxy Fold และ Huawei Mate X ที่เป็นลูกครึ่งระหว่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต มีความใหญ่และหนา อาจไม่เหมาะกับการพกเป็นสมาร์ทโฟนเท่าไหร่นัก และกลายเป็นว่าฝาพับเป็นเพียงกิมมิคของรุ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม Galaxy Z Flip ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีและขายไปแล้วในไทย กลายเป็นสมาร์ทโฟนจอพับที่ไม่ใช่เป็นแค่กิมมิคแต่สามารถใช้งานได้จริง และที่สำคัญคือพอใช้ไป ผมกลับชอบกิมมิคจอพับแบบนี้ด้วยซ้ำ ทั้งที่ก่อนใช้คิดว่าก็คงเป็นแค่มือถือจอพับธรรมดา ๆ เครื่องหนึ่งเท่านั้น Form Factor แบบ (เก่าในคราบ) ใหม่ ตอนเปิดตัวซัมซุงบอกว่า Galaxy Z Flip เป็นสมาร์ทโฟน form factor แบบใหม่ แต่พอใช้งานจริงผมกลับนึกถึงมือถือโมโตโรลาฝาพับที่เคยได้ลองเล่นสมัยเด็ก ๆ มากกว่า ความรู้สึกเวลาเปิดฝาพับขึ้นมาแนบหูเพื่อโทรคุยในแบบเก่า ๆ มันกลับมาในยุคนี้อีกครั้ง Galaxy Z Flip ตอนพับค่อนข้างกระทัดรัด พอดีมือ กดปุ่มโฮมด้านขวาเพื่อดูเวลา ดูการแจ้งเตือนแบบคร่าว ๆ หรือเปลี่ยนเพลงก็ได้จากหน้าจอเล็ก ๆ ด้านหน้า ปัญหาคือเวลาฟังเพลงแล้วหันหน้าเอาหน้าจอเล็ก ๆ นี้เข้าตัว สัมผัสกับต้นขา เพลงเปลี่ยนเองบ่อยและง่ายกว่า Pixel 4 ที่ใช้อยู่มาก อาจจะด้วยหน้าสัมผัสน้อยกว่า การเปิดปิดฝาพับมือเดียวอาจจะลำบากหน่อย การปิดฝาพับมือเดียวยังพอทำได้ แต่การเปิดด้วยมือเดียว จะค่อนข้างยาก เมื่อเอานิ้วดันเข้าไปใต้หน้าจอให้เผยอออกมาแล้ว อาจต้องใช้หน้าท้องช่วยดันออกอีกแรง ส่วนฝาพับเมื่อกางออกมา จะอยู่ที่ขนาด 16.7 นิ้ว สัดส่วน 21.9 ต่อ 9 สัดส่วนในแนวตั้ง ส่วนตัวรู้สึกว่าค่อนข้างดีและถนัดมือมากกว่า เพราะความกว้าง (แนวนอน) แคบลง ขณะที่ความสูงก็ค่อนข้างยาว อ่านบทความ ข่าวข่าวอะไรยาว ๆ ได้แบบเต็ม ๆ มากกว่า อาจจะมีข้อเสียแค่ตอนเวลาต้องเอื้อมนิ้วแตะพื้นที่ด้านบนของจอเท่านั้น ส่วนการใช้แนวนอน ด้วยความที่สัดส่วนใกล้เคียงกับโรงภาพยนตร์ (สัดส่วนโรงภาพยนตร์คือ 21:9) ทำให้เวลาดูหนังหลาย ๆ เรื่องบน Netflix ที่ใช้สัดส่วนนี้จะเต็มพื้นที่หน้าจอ ไม่มีขอบดำรบกวน และด้วย Form Factor จอพับแบบตลับแป้งแบบนี้ หลาย ๆ ครั้งก็พบว่าสามารถพับหน้าจอครึ่งบนขึ้น เพื่อให้ได้องศาที่เหมาะกับเวลาวางสมาร์ทโฟนไว้บนโต๊ะ เพื่อวิดีโอคอล วางดู YouTube หรืออ่านบทความต่าง ๆ ไปจนถึงแบ่ง 2 หน้าจอได้ง่ายขึ้นด้วย โดยตอนนี้มีแค่ YouTube ที่ปรับการแบ่ง 2 หน้าจอ ให้อัตโนมัติ ขณะที่รอยข้อพับตรงกลางหน้าจอ ไม่เป็นปัญหาหรือรบกวนการใช้งานใด ๆ เลย (มีรอยที่จางมาก ๆ พอจะรู้สึกได้จากสีที่แตกต่างจากพื้นที่จอบริเวณอื่นเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นพื้นหลังสีขาวและจ้องแบบเพ่ง ถึงจะพอสังเกตุเห็น) อีกจุดหนึ่งที่พบว่ามีประโยชน์คือเวลาคุยโทรศัพท์ เราสามารถพับหน้าจอครึ่งล่างขึ้นมาทำมุมราว 90 องศา ให้ไมโครโฟนเข้ามาแทบกับปากได้ และสามารถเอามือป้องเพื่อคุยได้สะดวกมากขึ้น ส่วนหน้าจอ AMOLED ของ Z Flip ก็ถือว่าสวยงามสดใสตามมาตรฐานซัมซุง แต่พบปัญหาว่าใช้งานกลางแจ้งไม่ค่อยดีนัก ทั้งในแง่ความสว่างและการสะท้อนแสงแดด ปัญหาหนึ่งที่ขัดใจเล็ก ๆ คือ Z Flip มีระบบสแกนลายนิ้วมือที่ปุ่มโฮมด้านขวา เพราะหากใช้งานมือขวา สามารถเอานิ้วโป้งไปแตะได้ง่าย แต่หากใช้มือซ้าย จะต้องเอื้อมนิ้วโป้งซ้ายไปแตะ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็มีหลุดบ้าง ต้องแตะหลายครั้งบ้าง ทำให้รู้สึกว่า form factor แบบนี้สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจออาจจะเหมาะสมกว่า (อาจเพราะปัญหาใน S20 ก็ได้ ซัมซุงเลยเลือกแบบนี้) ส่วนไบโอเมตริกอีกระบบที่ใช้ใบหน้าจากกล้องหน้า ไม่พบปัญหาอะไร ตัวเครื่องบางที่ต้องแลกมาด้วยความร้อน หนึ่งในจุดเด่นของ Z Flip คือเรื่องความบางโดยเฉพาะเวลากางหน้าจอออกมา ซึ่งบางในระดับที่ว่า ช่วงใช้งานแรก ๆ ยังไม่คุ้นกับความบางของสมาร์ทโฟนขนาดนี้ มีเสียวตก เสียวหล่นอยู่ตลอด โดยเฉพาะเวลาใช้งานมือเดียว และด้วยความบางนี้เองทำให้ตัวเครื่องร้อนง่ายมาก ไม่ว่าจะดู YouTube, วิดีโอคอลหรือถ่ายรูป โดยส่วนของชิปเซ็ตต่าง ๆ เข้าใจว่าอยู่บริเวณฝาครึ่งบนของตัวเครื่อง เพราะจะร้อนบริเวณนั้นเป็นหลัก เรื่องแบตเตอรี่ Z Flip อยู่ที่ 3300mAh และด้วยความบางขนาดนี้ถือว่ามากกว่าที่คิดเอาไว้ตอนแรก ในแง่การใช้งานจริงพบว่าอยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานล้วน ๆ ถ้าใช้แอปที่ทำให้เครื่องร้อน เช่นตัวอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น แบตเตอรี่จะหมดเร็วมาก อาจอยู่ได้แค่ราว ๆ ครึ่งวัน แต่หากใช้งานทั่วไป เปิดโซเชียล ตอนแชท เช็คอีเมล ถ่ายรูปบ้าง ก็พอจะอยู่ได้ทั้งวัน กล้อง กล้องอาจไม่ใช่จุดเด่นของ Z Flip เท่าเรือธงรุ่นอื่น ๆ ของซัมซุง (เช่นมีเพียง 3 เลนส์) แต่มันก็เพียงพอและคุณภาพก็ดีพอต่อการใช้งานในภาพรวม (อาจจะเพราะผมไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงมากแต่แรก) รูปซ้าย สัดส่วน 9:22 เปิดโหมดโบเก้ | รูปขวา สัดส่วน 3:4 โหมดออโต้ กล้องหน้า (ดูรูปเต็ม - ซ้าย, ขวา สรุป Galaxy Z Flip เป็น form factor ที่น่าจะเหมาะสมและใช้งานได้จริง (practical) กับสมาร์ทโฟนจอพับที่สุดแล้ว แถมช่วยให้เกิดการใช้งานที่ยืนหยุ่นมากกว่าด้วย (เช่นกางแบบพับหน้าจอครึ่งบนขึ้นเล็กน้อย) โดยตัว Z Flip เองก็ค่อนข้างเข้ามือไม่ว่าจะตอบพับหรือตอนกาง กล้องก็ถือว่าทัดเทียมเรือธงรุ่นอื่น ๆ ของซัมซุง อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าหน้าจอเล็กบริเวณด้านหลังของเครื่อง (หรือด้านหน้าเวลาพับ) น่าจะใหญ่และพื้นที่มากกว่านี้เล็กน้อย แบบใน Motorola RAZR น่าจะช่วยให้การดูแจ้งเตือนหรือถ่ายรูปเวลาพับสะดวกขึ้นกว่านี้ ข้อเสียก็อาจจะมีเรื่องของความร้อนของเครื่องและแบตเตอรี่ที่ไม่ได้อยู่ได้ตลอดทั้งวันในทุก ๆ รูปแบบการใช้งาน ไม่กันน้ำกันฝุ่น รวมถึงราคาค่าตัวที่สูงกว่าปกติอยู่ไม่น้อย (แต่พอเข้าใจในแง่การตลาดได้อยู่ ว่าไม่ใช่รุ่นแมสและต้องการขายเทคโนโลยีก่อน) Topics: Galaxy Z FlipSamsungMobileReview