"กลุ่มสามารถ"ปักธงธุรกิจ "พลังงาน"เต็มตัว ตั้งบริษัททุนจดทะเบียน50ล้านบาท หวังเป็นตัวจักรสำคัญดันรายได้เพิ่ม ตั้งเป้าใน 3 ปี เป็นแหล่งรายได้แบบยั่งยืนสัดส่วนเกิน 50% ประกาศปี 2558 เดินหน้าลงทุน ลุยต่างประเทศเพิ่ม พร้อมปรับโครงสร้างสายธุรกิจใหม่รองรับการเติบโต ขณะผลประกอบการรวมปี 2557 พลาดเป้า ไม่ถึง 3 หมื่นล้าน เหตุโครงการภาครัฐเลื่อนประมูล นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภายใน 3 ปีจากนี้ มีแผนทำให้บริษัทมีศักยภาพสร้างรายได้อย่างยั่งยืน จากปัจจุบันรายได้ที่เข้ามาประจำมีสัดส่วนราว 25-30% หวังว่าจะทำได้เกิน 50% เบื้องต้นนอกจากธุรกิจด้านโทรคมนาคม วางธุรกิจกลุ่มพลังงานไว้เป็นตัวจักรสำคัญสร้างรายได้ ล่าสุดได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทจัดตั้งบริษัทลูกดำเนินกิจการอย่างเต็มตัว ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัทสามารถ มีแผนลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อหารายได้ที่มั่นคง โดยระบุว่า จะให้บริษัทลูกเข้าลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับในประเทศต้องการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ) ส่วนในต่างประเทศมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในกัมพูชา และขายไฟฟ้ามาในไทย ซึ่งจะมีการทำสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ปี2558 ลงทุนเพิ่ม-บุกตปท. นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ปี 2558 จะเป็นปีที่มีการลงทุนมากสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ทั้งเตรียมออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าจะสามารถสรุปโครงสร้างสายธุรกิจใหม่ รวมถึงความชัดเจนตัวเลขการใช้งบประมาณและแนวทางลงทุนได้ภายในเดือนธ.ค.ปีนี้ สำหรับนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี ในส่วนของกลุ่มสามารถ ยังรอความชัดเจนนโยบายภาครัฐ พร้อมติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาดูว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง เชื่อว่าด้วยศักยภาพที่มีอยู่เดิมคงไม่ยากเกินไปหากจะเข้าไปมีส่วนร่วม พร้อมประเมินว่า โอกาสทางการตลาดที่มาพร้อมนโยบายดังกล่าวมีทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคม การสื่อสาร อีทรานเซคชั่น รวมถึงการยกระดับบริการภาครัฐต่างๆ "ยิ่งมีการลงทุนด้านไอซีทีมากขึ้น โอกาสทางการตลาดของเรายิ่งเพิ่มมากขึ้นตาม สำคัญต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการตลาด" อย่างไรก็ตาม ด้วยผลพวงภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการเลื่อนประมูลโครงการภาครัฐส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบพอสมควร คาดว่าผลประกอบการรวมปี 2557 จะทำได้ประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท ไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาทที่วางไว้ตอนแรก แต่ทั้งนี้เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ราว 2.2 หมื่นล้านบาท ยังเติบโตระดับ 15-20% ด้านกำไรเชื่อว่าสูงกว่าปี 2556 แน่นอน กำไรไตรมาส3ลด11% นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 มีรายได้รวม 5,556 ล้านบาท กำไรสุทธิ 351 ล้านบาท เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงประมาณ 11% ทั้งนี้ หากแยกตามสายธุรกิจ บมจ.สามารถ-ไอโมบาย มีรายได้รวม 2,739 ล้านบาท กำไรสุทธิ 152 ล้านบาท ยอดขายมือถือ 1 ล้านเครื่อง ทั้งปีนี้เชื่อว่าทำยอดขายได้ 4.5 ล้านเครื่องตามเป้า ด้านธุรกิจไอทีโซลูชั่นและบริการ ภายใต้บมจ.สามารถเทเลคอม มีรายได้รวม 1,579 ล้านบาท กำไรสุทธิ 157 ล้านบาท ลดลงเนื่องจากประมูลโครงการมีการเลื่อน อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 ได้เซ็นสัญญาโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบโทรคมนาคมทหาร และโครงการอื่นๆ มูลค่ารวมกว่า 1,100 ล้านบาท ทำให้สิ้นไตรมาสที่ 3 มีมูลค่างานในมือ (Backlog) แล้วราว 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เซ็นสัญญาให้บริการและบำรุงรักษาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUTE) ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท รวมปัจจุบันมีแบ็คล็อกแล้วประมาณ 7,200 พันล้านบาท กล่อง-เสาทีวีดิจิทัลหนุนรายได้ ขณะที่สายธุรกิจสาธารณูปโภคและการเดินทาง มีรายได้ 570 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ประจำที่แข็งแกร่งให้กลุ่มสามารถ จากธุรกิจศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศ CATS, โรงไฟฟ้ากัมปอต รวมถึงสามารถ-ยูทรานส์ ที่ล่าสุดได้งานวิทยุการบินในประเทศไทยมูลค่า 465 ล้านบาท และประเทศพม่า 4 ล้านเหรียญ รวมมูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท และจากธุรกิจก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงระบบสายส่งต่างๆ ของบริษัท เทด้า ซึ่งปัจจุบันมีแบ็คล็อกประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ กลุ่มธุรกิจอื่นๆ มีรายได้รวมประมาณ 780 ล้านบาท บริษัทฯที่มีรายได้โดดเด่นของกลุ่ม คือ บ.สามารถวิศวกรรม โดยเฉพาะการจำหน่ายตลาดกล่องและเสารับสัญญาณดิจิทัลทีวี โดยเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีการรับแลกคูปองกล่องดิจิทัลทีวีไปแล้วกว่า 3 แสนกล่องและจำหน่ายเสาอากาศไปได้ถึง 4 แสนชุด ทำให้บริษัทมีรายรับในเดือน ต.ค เพียงเดือนเดียวกว่า 200 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี ยอดจำหน่ายน่าจะทะลุ 2 ล้านชุดตามเป้า แบ็คล็อกไตรมาส4พุ่ง1.2 หมื่นล. นายวัฒน์ชัยกล่าวต่อว่า ไตรมาสที่ 4 จะเป็นไตรมาสที่บริษัทเติบโตสูงสุด ทั้งจากธุรกิจรับเหมาวางระบบงานไอทีจากสายธุรกิจไอซีที ที่รอการประมูลรวมกว่า 9,000 ล้านบาท จากโครงการขององค์กรต่างๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานไทย กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้โครงการระบบตรวจคัดกรองผู้โดยสาร (APPS) จะสรุปและมีความชัดเจนในเดือน ธ.ค นี้ คาดเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 4 จะมีเป้าแบ็คล็อก ทะลุ 12,000 ล้านบาท ส่วน สามารถไอโมบายมั่นใจธุรกิจกลับมาคึกคักแน่นอน จากการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือล็อตใหญ่ให้แก่โอเปอร์เรเตอร์ พร้อมเปิดตัวโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่คาดสิ้นปี ยอดขายไม่ต่ำกว่า 4.5 ล้านเครื่อง รวมถึงยังมีแผนรุกตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว รวมถึงแถบเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง รวมเกือบ 30 ประเทศ ที่สำคัญในไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีความคืบหน้าของโครงการวิทยุการบินที่ประเทศลาว, ธุรกิจกล้องวงจรปิดของกรมตำรวจและที่สนามบินสุวรรณภูมิ และการสรุปโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มสามารถด้วย "ผมเชื่อว่าไตรมาสที่ 4 บริษัทจะสามารถทำรายได้ได้ดีที่สุดในรอบปี ทั้งมีการเซ็นสัญญาโครงการมากที่สุด ส่วนช่วงที่แย่ที่สุดคือไตรมาสที่ 3" นายวัฒน์ชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม หากนับรวมทั้ง 3 ไตรมาส กลุ่มสามารถมีรายได้ 18,480 ล้านบาท เติบโต 10.21% กำไรสุทธิ 1,166 ล้านบาท เติบโต 5.02% โบรกฯคาดรายได้ฟื้นไตรมาส4 บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่าผลประกอบการอ่อนแอในไตรมาส 3/2557 โดยคาดว่ากำไรสุทธิที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2557 ซึ่งจะได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลและเสารับสัญญาณ นอกจากนี้ดีลโครงการโรงชีวมวลขยะในประเทศแห่งแรกมีแนวโน้มประกาศได้ภายในสิ้นปี 2557 ส่วนที่เหลือมีแนวโน้มประกาศได้ภายในปี 2558 รวมถึงดีลโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะประกาศได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ราคาหุ้น SAMART ปิดตลาดวานนี้ (13 พ.ย.) เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 7.38% อยู่ที่ 32.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 390.35 บาท Tags : วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ • สามารถ คอร์ปอเรชั่น • พลังงาน • ผลประกอบการ • ตปท. • กฟผ. • ทีวีดิจิทัล • บัวหลวง