"เอสเอ็มอีแบงก์"เปิดผลสำรวจสถานะกิจการธนาคาร เผยระบบประเมินหลักประกันบกพร่อง "หนี้เสีย" พุ่ง260ล้าน "เอสเอ็มอีแบงก์" เปิดผลสำรวจสถานะกิจการธนาคาร หรือ ดีลดิลิเจนท์ เผยระบบประเมินหลักประกันบกพร่อง ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ธปท. ยอดเอ็นพีแอลต่ำกว่าความจริง 260 ล้าน แต่ไม่ต้องกันสำรองเพิ่ม เหตุกันสำรองเกินไว้อยู่แล้ว นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารได้นำส่งผลสำรวจสถานะกิจการ หรือ ดีลดิลิเจนท์ ต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากนี้ธนาคารจะทำแผนฟื้นฟูกิจการฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ โดยจะปรับปรุงตัวเลขต่างๆ ตามผลดีลดิลิเจนท์ที่ออกมา ธนาคารได้ว่าจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด มาทำดีลดิลิเจนท์ และสอบทานความถูกต้องของเงินให้สินเชื่อตามระบบบัญชีที่ธนาคารบันทึกไว้ รวมถึงความพอเพียงของเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ เอ็นพีแอล โดยยึดข้อมูล ณ 30 มิ.ย.2557 ผลสำรวจ พบว่า มีสินเชื่อปกติ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่างจากที่บันทึกไว้ในระบบบัญชีของธนาคารเล็กน้อย ควรจะบันทึกเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอีก 260 ล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลควรอยู่ที่ 35,167 ล้านบาท คิดเป็น 39.92% และมีสินเชื่อคุณภาพดี 52,928 ล้านบาท คิดเป็น 60.08% ของสินเชื่อรวม บริษัท อี วายฯ ยังมีความเห็นว่า ธนาคารควรมีเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นอีก 974 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 14,556 ล้านบาท ปัญหาเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องของหลักประกัน เพราะไม่ปรับปรุงราคาหลักประกันทุก 3 ปี ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะเดียวกันธนาคารไม่ได้ให้บุคคลภายนอกมาประเมินราคาหลักประกันของเอ็นพีแอล ที่มียอดหนี้ 25-30 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถนำหลักประกันเหล่านั้นมาหักออกจากยอดหนี้ เพื่อคำนวณเงินสำรองได้ เพราะข้อบังคับของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาประเมินหลักประกันของเอ็นพีแอลที่มียอดหนี้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป "หลังเห็นผลการทำดีลดิลิเจนท์ ธนาคารไม่ต้องเพิ่มเงินสำรอง เพราะมีเงินสำรองจริงเกินกว่าที่ต้องกันไว้อยู่แล้ว โดยอยู่ที่ 14,973 ล้านบาท ส่วนการประเมินหลักประกันนั้น หลังจากนี้จะระดมคนภายนอกมาประเมินหลักประกัน และทำแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ส่งซูเปอร์บอร์ด"นางสาลินี กล่าว แผนฟื้นฟูกิจการที่จะปรับใหม่คงไม่แตกต่างจากแผนเดิม มีแค่การปรับตัวเลขต่างๆ เล็กน้อย ใจความของแผนงานจะพูดถึงปัญหาของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา แนวทางการแก้ไขปัญหา และการป้องกันปัญหาในอนาคต สรุปปัญหาของธนาคาร คือ มีเอ็นพีแอลสูง ขาดจริยธรรม และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดระบบการตรวจสอบและเอาผิด และพนักงานขาดกำลังใจในการทำงาน แนวทางแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอล ล่าสุด สิ้นเดือนก.ย.เอ็นพีแอลลดเหลือ 33,850 ล้านบาท ส่วนนี้เป็นเอ็นพีแอลที่ลูกหนี้ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว และไม่มีหลักประกัน 1.2 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,500 ล้านบาท จะจ้างหน่วยงานภายนอกมาติดตามหนี้ และมีบางส่วนที่ขอเคลมกับกระทรวงการคลังได้ 2 พันล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่เลิกกิจการแล้ว แต่มีหลักประกัน มี 1,100 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 11,000 ล้านบาท มีทั้งกิจการโรงสี โรงงาน โรงแรม อพาร์ตเมนต์ และที่ดินเปล่า ธนาคารจะดำเนินการขายหลักประกัน โดยจัดเป็นกองตามภูมิภาคแล้วเปิดประมูล ขณะนี้บอร์ดได้เห็นชอบร่างทีโออาร์ในการเปิดประมูลแล้ว "การดำเนินงานตาม แผนการฟื้นฟู และการแก้ปัญหาเอ็นพีแอล คาดปี 2558 จะลดเอ็นพีแอลให้ลงต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทได้ ปัจจุบันมีกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท" Tags : เอสเอ็มอีแบงก์ • ดีลดิลิเจนท์ • คนร. • สคร.