(รายงาน) "ศุภชัย" แนะจับตาลงทุนเอกชน ดัชนีชี้วัด "นโยบายรัฐบาล" นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการใหญ่ ที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ภาพรวมทางเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2015" มีข้อสังเกตน่าสนใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดังนี้ นายศุภชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจต้องใช้การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ในส่วนของภาครัฐไม่มีปัญหามีการเร่งใช้จ่ายและลงทุนอยู่แล้ว แต่ผลต่อเศรษฐกิจจริงจะได้เห็นในช่วงกลางปีหน้า เพราะส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน "ภาคเอกชนถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะการลงทุนเอกชนปีนี้ติดลบ หากปีหน้าไม่มีการลงทุนเพิ่มก็จะชี้ให้เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจไม่ได้ผล เหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา ที่ภาครัฐทุ่มเงินมหาศาลแต่ไม่มีการตอบสนองผ่านการลงทุนจากเอกชน" อย่างไรก็ตาม ปีหน้าซึ่งไทยและอาเซียนจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจ( เออีซี)นั้น ไทยถือเป็นแหล่งลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดในอาเซียนเพราะที่ตั้งที่เชื่อมระหว่างจีนและอาเซียน ทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากเออีซี ซึ่งในภาพรวมเชื่อว่าปัจจัยต่างๆจะเป็นผลให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงกลางปีหน้า นายศุภชัย กล่าวอีกว่า การลงทุนของภาคเอกชนจะสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของไทยที่ไม่มีการปรับโครงสร้างมานาน ทั้งกลุ่มสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ต้องหันมาเน้นคุณภาพเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ในไทยไม่ใช่เน้นการออกไปโปรโมทเพราะไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากภาคการส่งออกปี 2557 สามารถขยายตัวได้ดี ก็จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 5% เพราะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างแน่ๆอยู่แล้ว จากปีนี้ที่น่าจะขยายตัว 1- 1.5% เมื่อฐานปีนี้ต่ำก็จะส่งให้ปีหน้าขยายตัวสูงเมื่อรวมกับเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ มั่นใจว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% แน่ "ภาคการส่งออกของไทยต้องเลิกโทษว่าที่ส่งออกไม่ดีเพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไม่ดี แล้วหันมาพึ่งพาการบริโภคภายใน นั่นเป็นข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว แต่แนวโน้มในอนาคต ไม่มีประเทศไหนที่จะโตได้โดยไม่พึ่งการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าที่ส่งออกไม่ดีเพราะสินค้าเราสู้เขาไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ เพราะนานกว่า 10 ปีที่ไทยไม่ได้ลงทุนด้านการผลิตเพิ่มอีกเลย"นายศุภชัย กล่าว สินค้าไทยต้องมีนวัตกรรม ต้องออกไปหาตลาดและยึดส่วนแบ่งมาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ไม่ควรพึ่งแต้มต่อจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะทิศทางค่าเงินบาทของไทยจากนี้มีแต่จะแข็งค่าขึ้นและไม่เกิน 10 ปีค่าเงินบาทจะมีอัตราที่ต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะพื้นฐานนโยบายเศรษฐกิจของไทยดีมาก อย่างไรก็ตามการขยายตลาดการค้าต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งเห็นด้วยที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อการเชิญชวนของสหรัฐในการทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) เพราะเป็นข้อตกลงที่มีขอบเขตมากกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และมีโอกาสทำให้นโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนล้มเหลวเพราะยาราคาแพง นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้า อีกประการคือ ภาวะการไม่ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่พบว่าแม้จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวบ้าง แต่ก็ไปอย่างเปราะบางเต็มที โดยยุโรป ค่าเงินยูโรจะอ่อนตัวต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจยุโรปต้องการการกระตุ้น แต่เชื่อว่าคงไม่มีความสามารถใช้เงินกระตุ้นได้มากเท่าที่ควร ส่วนสหรัฐ แม้ตัวเลขการจ้างงานจะต่ำแต่เป็นอัตราที่เกิดจากจำนวนคนตกงานที่ลงทะเบียนรับเงินชดเชยซึ่งมีกำหนดเวลา แค่ 3 เดือนทำให้หลังจากนั้นจะไม่มีการลงทะเบียนทำให้ยอดคนตกลงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่พบสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐพื้นตัวจริง ด้านญี่ปุ่นก็เช่นกันความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าทิศทางยังไม่ดีขึ้น ขณะที่จีนแม้จะมีเงินทุนสำรองสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินหยวนที่จะแข็งค่าขึ้นทุกปีจนนำไปสู่มูลค่าเม็ดเงินสำรองที่จะสูญเสียไปอย่างต่อเนื่องจีนจึงต้องเร่งลงทุนและไทยก็เป็นจุดหมายหนึ่งของจีนเช่นกัน Tags : นายศุภชัย พานิชภักดิ์ • เศรษฐกิจ • เอกชน • ลงทุน