ปิดบัญชีข้าวขาดทุน6.8แสนล้าน เฉพาะรัฐบาล'ยิ่งลักษณ์' 5.18 แสนล้าน ข้าว85ล้านตัน เหลือสต็อก19.2ล้านตัน กระทรวงการคลังสรุปผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและการอุดหนุนราคาข้าวเปลือกใน 5 รัฐบาล มีผลขาดทุนประมาณ 6.8 แสนล้านบาท โดยเกิดขึ้นในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากที่สุดถึง 5.18 แสนล้านบาท ตัวเลขการปิดบัญชีดังกล่าวถือเป็นตัวเลขเบื้องต้น โดยต้องรอผลการตรวจสอบจนถึงสิ้นเดือนก.ย. 2557 ซึ่งผลการขาดทุนอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นกับราคาขายข้าวในสต็อกรัฐบาลและหักค่าเสื่อมตามหลักการทางบัญชี ปัญหาการปิดบัญชีถือว่าเป็นประเด็นยืดเยื้อยาวนานข้ามรัฐบาล เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานปิดบัญชีกับกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติไม่ตรงกันในหลายประเด็น ซึ่งการปิดบัญชีในครั้งนี้ กระทรวงการคลังเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลอย่างมาก เพราะดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้สรุปภาระหนี้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้สร้างภาระกับงบประมาณ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 จำนวน 15 โครงการ ผลปรากฏว่า มีผลขาดทุนจำนวนประมาณ 6.8 แสนล้านบาท จากต้นทุนโครงการที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจำนวนประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท "ผลการปิดบัญชีครั้งนี้ จะได้รายงานต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการ (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน" นางรังสรรค์ กล่าวว่าจำนวน 15 โครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นการดำเนินโครงการโดยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุนโครงการจำนวน 5.18 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือ 11 โครงการ ดำเนินการตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีผลขาดทุนจำนวนประมาณ 1.64 แสนล้านบาท "ผลขาดทุนโครงการ ถือเป็นผลขาดทุนทางบัญชี เนื่องจาก ยังมีสต็อกข้าวของโครงการที่ยังเหลืออยู่จำนวน 19.2 ล้านตันข้าวสาร จากจำนวนข้าวที่รับจำนำมาทั้งหมดประมาณ 85 ล้านตันข้าวเปลือก" นางรังสรรค์ กล่าวว่าการปิดบัญชีจะมีอีกครั้งตามข้อมูลทางบัญชี ณ สิ้นเดือนก.ย.2557 ซึ่งจะนำข้อมูลการสำรวจสต็อกข้าวในชุดของม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาร่วมพิจารณาด้วย สต็อกข้าว19.2ล้านตัน2.2แสนล้าน "หลังจากปิดบัญชีตามเอกสารที่มีอยู่แล้ว เราก็ต้องไปดูจำนวนการตรวจสต็อกข้าวที่แท้จริงในชุดของม.ล.ปนัดดา อีกครั้งว่า มีสต็อกเหลือจริงเท่าไร และ เสื่อมสภาพไปมากน้อยแค่ไหน จากนั้น ก็จะนำมาคำนวณผลทางบัญชี หากเสื่อมสภาพมากกว่าที่เราคำนวณ สต็อกข้าวที่หายไป รวมถึง ราคาที่ระบายข้าวออกไปหากขายต่ำกว่าราคาที่เราใช้คำนวณสต็อก ผลขาดทุนก็จะมากกว่านี้" นายรังสรรค์ กล่าว ทั้งนี้ จำนวนสต็อกข้าว 19.2 ล้านตันข้าวสารที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ทางคณะอนุกรรมการฯได้ใช้ราคาขาย ณ วันที่ 22 พ.ค.2557 โดยราคาอยู่ที่ 1.17 หมื่นบาทต่อตันข้าวสาร โดยมีมูลค่าทางบัญชีรวมประมาณ 2.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ มีการระบุว่า จำนวนสต็อกข้าวเหลืออยู่เพียง 18.6 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า เป็นเพราะยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลของข้าวที่ส่งไปสีข้าวจากโรงสีข้าว ยันใช้หลักทางวิชาบัญชีบันทึก สำหรับหลักการคำนวณผลการดำเนินโครงการนั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่าคณะอนุกรรมการฯได้ใช้หลักการตามวิชาชีพการบัญชีทั้งหมด โดยนำสินค้าคงเหลือมาหักออกจากสินค้าต้นงวดทั้งหมด และ นำมาคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายสินค้า โดยสินค้าคงเหลือนั้น ได้มีการหักค่าเสื่อมราคาในแต่ละปี ในปีแรกจะหักค่าเสื่อมในอัตรา 10% ปีที่ 2 จำนวน 20% ปีที่ 3 จำนวน 30% และ ปีที่ 4 จำนวน 40% ส่วนระยะเวลาที่เหลือของสต็อกข้าวนั้น เราจะหักค่าเสื่อมในอัตราสูงสุดที่ 40% ทั้งนี้ อัตราค่าเสื่อมราคาสินค้าข้าวในสต็อกที่เหลือทั้งหมดมีอยู่จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาทจากต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด รับโครงการมีปัญหา'ไม่รัดกุม' นายรังสรรค์ กล่าวด้วยว่า ผลขาดทุนโครงการดังกล่าวนั้น ไม่ได้ถือว่า ผิดความคาดหมายของคณะอนุกรรมการฯ โดยผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจำนวนมากนี้ ต้องยอมรับว่า การดำเนินโครงการนั้น มีปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่รัดกุม ซึ่งทำให้เกิดช่องทางการรั่วไหลหรือไม่โปร่งใสได้ สำหรับผลขาดทุนโครงการที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องมีกระบวนการชำระบัญชี โดยการชำระบัญชีนั้น จะดำเนินการผ่านระบบงบประมาณในแต่ละปี แต่เนื่องจาก ผลขาดทุนเกิดขึ้นจำนวนมาก การกระทบต่อการบริหารงบประมาณในแต่ละปี ดังนั้น รัฐบาลจึงหันมาใช้วิธีการออกพันธบัตร เพื่อยืดระยะเวลาการชำระหนี้ จนกว่าระบบงบประมาณจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างคล่องตัว ป.ป.ช.แจงอสส.ไม่สอบพยานเพิ่มคดีข้าว ในขณะที่กระทรวงการคลังสรุปบัญชีโครงการจำนำข้าว แต่การดำเนินคดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังหาข้อยุติไม่ได้ระหว่างอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องการส่งฟ้องดำเนินคดี ด้านความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีละเลยตรวจสอบทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ภายหลังการประชุมร่วมผ่านไปแล้ว 3 ครั้ง และคณะกรรมการร่วมฝ่าย อสส. ขอให้ฝ่าย ป.ป.ช.สอบปากคำพยานเพิ่มเติมกว่า 10 ปาก ล่าสุดมีข่าวจากทาง อสส.ว่า ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารไปยัง อสส.ว่าจะไม่สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ฝ่าย อสส.ร้องขอ สำหรับการประชุมร่วมของคณะกรรมการฯนัดต่อไป คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. และมีความเป็นไปได้สูงว่าอัยการสูงสุดอาจมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง เพราะประเด็นที่อสส.เห็นว่าไม่สมบูรณ์ ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ฝ่าย ป.ป.ช.ก็ต้องยื่นฟ้องคดีเอง หรือว่าจ้างทนายความเพื่อดำเนินการแทน "ปรีดิยาธร"เรียกดูข้อมูลคลังปิดบัญชีข้าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังแถลงปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2547 พบว่ามีการขาดทุน6.82 แสนล้านบาทว่าตนได้ติดตามความเสียหายและการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวมาตลอดซึ่งจะต้องดูรายงานการปิดบัญชีของกระทรวงการคลังว่ามีความครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อแก้ไขปัญหาภาระหนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้แก้ปัญหา เขากล่าวด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลเรื่องจำนวนข้าวในสต็อกไม่ได้กดดันราคาข้าวในตลาดให้ลดลง เนื่องจากปริมาณข้าวในสต็อกจากโครงการรับจำนำเป็นตัวกดดันราคาข้าวมานานถึง 3 ปีแล้ว ซึ่งปริมาณข้าวในสต็อกที่มีจำนวนมากต้องใช้เวลานานในการระบายสต็อกเพราะในอดีตโครงการรับจำนำข้าวในปี 2547 /2548 มีปริมาณข้าว 11 ล้านตันข้าวเปลือกหรือ 7 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นมีการระบายออกไปได้เพียง 2 ล้านตันเศษและเมื่อถึงปี 2549 ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์มีการตรวจสอบสต็อกข้าวพบว่าเหลือข้าวจากโครงการรับจำนำก่อนหน้าเหลืออยู่ 4 ล้านตันเศษซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการระบายข้าวจำนวนนั้นถึง 3 ปีจึงจะหมด “การระบายข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย ผมรู้สึกเห็นใจหน่วยงานที่ทำงานตรงนี้คือกระทรวงพาณิชย์เพราะหากระบายข้าวออกมาเร็วเกินราคาก็ตก หากไม่ระบายข้าวออกมาราคาก็ตกอีกเพราะปริมาณข้าวในสต็อกกดดัน การระบายข้าวต้องอาศัยจังหวะที่เหมาะสมซึ่งขณะนี้เราก็ยังขายข้าวได้เรื่อยก็ทยอยขายออกไปยกเว้นในส่วนข้าวที่เสื่อมสภาพมากซึ่งมีอยู่ประมาณ 20%”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว รับเงินชดเชยข้าวลงพื้นที่ล่าช้า รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ ตามโครงการของรัฐบาลว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าชาวนาที่จะช่วยเหลือเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวแท้จริงหรือไม่ โดยขณะนี้ได้มีการตรวจสอบไปแล้วกว่า 1.1 ล้านราย ซึ่งการจ่ายเงินให้ชาวนาจะล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน แต่ก็เป็นการจ่ายเงินให้ในช่วงใกล้เคียงกับเทศกาลปีใหม่ เช่นเดียวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการซ่อมแซมสถานที่ราชการต่างๆ ทั่วประเทศที่มีวงเงินรวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าในการยืนยันโครงการในพื้นที่กับสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว คาดว่าจะทำสัญญาและเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณฯลงไปในโครงการต่างๆ ได้ในเดือน ธ.ค.ซึ่งถือว่าเป็นของขวัญที่จะให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ด้วยเช่นกัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีความขัดแย้งภายในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทีมเศรษฐกิจแต่อย่างใด โดยยืนยันว่าขณะนี้ตนมีความสุขในการทำงานและสามารถพูดคุยกับรัฐมนตรีได้ทุกคน ส่วนในการปรับ ครม.เท่าที่ทราบยังไม่มีการปรับใครออกจากครม.มีแต่คนที่ตนเสนอรายชื่อเพิ่มเติมให้เป็น ครม.โดยเสนอให้นายอำนวย ปติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเสนอให้นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเพื่อช่วยงานใน 2 กระทรวงเศรษฐกิจโดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯตามขั้นตอน Tags : กระทรวงการคลัง • ปิดบัญชี • จำนำข้าว • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร • รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • แสนล้าน • ป.ป.ช. • ปรีดิยาธร เทวกุล • ขาดทุน