'รองนายกฯวิษณุ' ปัดตั้งธงร่าง รธน. แนะพรรคการเมือง ขอ คสช. หากต้องการจัดประชุม เมินคนไม่ร่วม ยืนยัน กมธ.รับฟังทุกฝ่าย ขณะที่ 'คำนูญ' มั่นใจ กมธ.รธน. คุยพรรคการเมืองไม่ขัดอัยการศึก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงข้อกังวลของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ในการส่งตัวแทนเข้าเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า อาจขัดต่อข้อบังคับพรรค เพราะต้องประชุมพรรค เพื่อระดมความคิดเห็นให้เป็นข้อเสนอพรรค ว่า สามารถหารือเป็นการภายในได้ แต่หากไม่สบายใจ ก็สามารถทำหนังสือขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดประชุมพรรค แต่ส่วนตัวเห็นว่า ทุกพรรคมีหัวหน้าที่สามารถเป็นตัวแทนได้อยู่แล้ว ส่วนที่มีบางพรรค ระบุไม่ขอเข้าร่วมเสนอความเห็น เพราะเชื่อว่า สุดท้ายคณะกรรมาธิการมีธงของร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งหากคิดเช่นนั้น ก็ไม่ต้องเข้าร่วม ซึ่งไม่ใช่การท้าทาย แต่ทั้งหมดคณะกรรมาธิการต้องการฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทุกสี และทุกกลุ่มความขัดแย้ง เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความครอบคลุมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ยอมรับ มีการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ เพราะเชื่อว่าคณะกรรมาธิการ ทั้ง 36 คน สามารถดำเนินการยกร่างได้ เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด คำนูญมั่นใจกมธ.ยกร่างรธน.คุยพรรคการเมืองไม่ขัดอัยการศึก นายคำนูญ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ สปช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การเชิญนักการเมืองแต่ละพรรค และกลุ่มต่างๆ มาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวทางเมือง แต่เป็นการการพูดเชิงวิชาการมากกว่า จึงคิดว่าไม่เป็นการขัดกฎอัยการศึก และไม่ขอก้าวก่ายการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือขอให้ยกเลิกผ่อนคลายกฎอัยการศึกหรือแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศไทยมาก ซึ่งจะต้องรีบดำเนินการให้ทันกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยตลอดสัปดาห์หน้า จะมีการเชิญทุกฝ่ายมาหารือกันในช่วงเช้าของทุกวัน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านเวลาบ้าง แต่ยังคงตามกำหนดเดิม วิปสปช.เคาะ10ธค.18กมธ.ส่งแนวปฏิรูปยกร่างรธน. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เปิดเผยหลังการประชุมวิป สปช. นัดแรกวานนี้ ว่า ที่ประชุมพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ และพิจารณาองค์ประกอบจำนวนบุคคลที่จะเป็น กมธ.วิสามัญ ทั้ง 5 คณะ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 พ.ย. สปช. จะประชุมใหญ่ มีวาระเรื่องการแต่งตั้ง กมธ.กิจการสภา เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบและจะมีการพิจารณาอำนาจหน้าที่องค์ประกอบของ กมธ.วิสามัญ ทั้ง 5 คณะ พร้อมศูนย์รับฟังความคิดเห็น ที่มอบหมายให้เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งโดยใช้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เป็นที่ตั้ง มีคณะทำงานกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังวางกรอบเวลาที่จะส่งข้อสรุปให้กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ กมธ.ทั้ง 18 คณะ รวมถึง กมธ.วิสามัญที่เกี่ยวข้อง สรุปข้อเสนอให้ สปช. ภายในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ สปช. จะจัดการประชุมและพิจารณาในวันที่ 15 - 16 ธ.ค. และยื่นข้อเสนอต่อ กมธ. ยกร่างในวันที่ 19 ธ.ค. คำนูณระบุเชิญพรรคการเมืองให้ความเห็นรธน.ทำได้ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผย สำนักข่าว INN ว่า การเชิญพรรคการเมือง มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น มองว่า ไม่ขัดต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และการยกร่างฉบับถาวร จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมไปถึงพรรคการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ขณะที่ในสัปดาห์นี้ จะประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ให้ได้รายชื่อคณะอนุกรรมาธิการ 10 คณะ รวมถึงประธานด้วย และการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯ ขณะนี้ จะยังไม่ใช่การยกร่างรายมาตรา แต่จะเป็นการหารือหลักการ ก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่กรรมาธิการยกร่างฯ อีกครั้ง จากนั้น เมื่อได้ข้อสรุป จึงจะเขียนเป็นรายมาตรา ทั้งนี้ ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการเสร็จสิ้นตามกรอบในวันที่ 17 เม.ย. 2558 แน่นอน ก่อนส่งให้ที่ประชุม สปช. ให้ความเห็นต่อไป