แบงก์"กรุงเทพ-กสิกรไทย" ระบุดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ จี้สร้างความเชื่อมั่น-ลงทุน "ธนาคารโลก" ชี้นักลงทุนห่วงดีมานด์ในประเทศมากกว่าดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความกังวลถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ช้ากว่าคาด ดังนั้น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงออกมาระบุว่า หากเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีนโยบายการเงินเพิ่มเติมเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ โดยแนวทางนโยบายการเงินดังกล่าว ประเมินกันว่า จะเป็นการหั่นดอกเบี้ยนโยบายลง นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ดอกเบี้ยของไทยและทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าสถานการณ์จะทรงตัวเช่นนี้ไปในอีกระยะหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย สภาพแวดล้อมทั่วโลกชะลอตัวลง มาตรการที่ทางการ และ ธปท. ดำเนินการเพื่อทำให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่องไปได้อย่างมั่นคง ขณะที่การอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ "เชื่อว่าคงมีระยะหนึ่งที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระดับปัจจุบันก็เหมาะสม และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยขณะนี้ ยังพอมีเวลาอยู่ ส่วนสหรัฐเชื่อว่าต้องคอยดูสภาพตลาดเหมือนกันไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยในทันที" สำหรับเศรษฐกิจปีหน้าเชื่อว่า จะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ จากการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นรวมถึงการเติบโตในภูมิภาค ซึ่งความต้องการสินเชื่อยังมีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นตามมา ส่วนลูกค้าธนาคาร ได้ให้คำแนะนำให้ออกไปหาตลาดใหม่ในเอเชีย และเออีซี เพื่อเพิ่มช่องทางในการทำธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเทศที่ลูกค้านิยมออกไปลงทุนยังอยู่ในอินโดจีน ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซีย และยังไกลไปถึงแอฟริกาด้วย มั่นใจแบงก์ชาติไม่หั่นดอกเบี้ย ด้านนายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเกิดขึ้นในทันทีทันใด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวด้วย ทำให้มองว่าปีหน้าโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีให้เห็นอยู่ แต่ลูกค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยยัง ประสบภาวะที่ยากลำบากในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวยังเป็นไปได้ล่าช้าขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงกดดัน ส่วนธปท.ที่จะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น เพื่อหาแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของความมั่นคงปลอดภัยในความเสี่ยงที่ควบคุมได้ ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าจะไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างหวือหวามากนัก แต่เชื่อว่าจะไม่ปรับลดลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้มีการฟื้นตัวดีขึ้นมาก ทำให้มีเงินไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐส่วนหนึ่ง "หากทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย ไทยก็ต้องปรับขึ้นตาม ก็ต้องดูไปตามความจำเป็น อาจจะไม่ต้องปรับเท่ากัน เข้าใจว่าทุกคนพยายามช่วย แต่ดอกเบี้ยถูกไปก็ไม่ได้ช่วย ความสำคัญอยู่ที่ว่าธุรกิจจะขยายตัวอย่างไร เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และพยายามปราบปรามคอร์รัปชันให้ได้" ยังไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานบริษัท เอ็ม.ที.อาร์.แอสเส็ท แมนเนเจอร์ จำกัด อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ยังไม่สามารถปรับขึ้นได้ในช่วงนี้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ของเอสเอ็มอี รวมถึงรัฐบาลที่เป็นผู้กู้เงินรายใหญ่ เวิลด์แบงก์ชี้พิจารณาดบ.จากหลายปัจจัย น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวถึงการส่งสัญญาณผ่อนคลายดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธปท.ว่า จากการพูดคุยกับนักลงทุนถึงความต้องการเงินกู้ หรือต้องการลงทุนในขณะนี้ ยังให้น้ำหนักกับเรื่องของอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก และมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยด้านดอกเบี้ย ซึ่งเชื่อว่า ธปท. จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยจากหลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงดอกเบี้ยในต่างประเทศด้วย สำหรับเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัว 3.5% จากการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคของรัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เรียกความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนตามมา เพราะโครงสร้างที่ดีทำให้ต้นทุนธุรกิจลดลง ส่วนความเสี่ยงหลักยังอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะต่ำว่าที่คาดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารโลก เคยมองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีนี้แต่ก็ล่าช้าออกไป อาจกระทบภาคการส่งออกไทยให้เติบโตไม่มากนัก นอกจากนี้เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว และได้อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาสู่ไทยผ่านการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) โดยศักยภาพประเทศไทยยังมีความน่าลงทุนเห็นได้จากผลสำรวจประเทศที่น่าลงทุน 189 ประเทศ ปีนี้ไทยปรับขึ้นมาอยู่อันดับ 26 จากอันดับ 28 ในปีที่แล้ว ขณะที่ ยอดเอฟดีไอของไทย 9 เดือนก็มากกว่าปีที่แล้ว สะท้อนว่าต่างชาติยังสนใจลงทุนไทย 9เดือนส่งออกยังโชว์ติดลบ ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยปกติจะหนุนการส่งออก แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกโดยรวมยังติดลบ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน เป็นที่น่าสังเกตุดว่าการอ่อนค่าของเงินบาทครั้งนี้ ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการส่งออกมากนัก เนื่องจากประเทศคู่แข่งทางการค้าก็มีค่าเงินที่อ่อนค่าเช่นกัน ในส่วนของทิศทางดอกเบี้ยนั้น แม้ว่ากนง.จะแสดงความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น แต่ธนาคารยังเชื่อว่า ดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจแล้ว และคาดว่าจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 2%ต่อเนื่องไปอีก3 ไตรมาสก่อนที่จะปรับขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้ายังต้องติดตามหลายปัจจัย ที่เป็นความเสี่ยงทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงและด้านการเงิน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในปีหน้า รวมถึงการค้าโลกที่ขยายตัวในระดับต่ำรวมถึงการปฏิรูปประเทศ คาดว่าจีดีพีปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 4% และการส่งออกกลับมาขยายตัวที่ระดับ 3.5% "ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้อีกหากนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรไทย ที่เริ่มสะสมมาตั้งแต่การทำคิวอีครั้งแรกของเฟด โดยส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยเริ่มมีราคาสูงกว่าสหรัฐเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการที่เฟดเตรียมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน สภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดการเงินโลกจะเริ่มลดลง ทำให้ธนาคารมองว่าค่าเงินบาทอาจปรับตัวอ่อนค่าไปถึง 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ในสิ้นปีหน้า" Tags : กนง. • นโยบายการเงิน • ชาติศิริ โสภณพนิช • ธนาคารกรุงเทพ • ดอกเบี้ย • จัตุมงคล โสณกุล • กิริฎา เภาพิจิตร • กอบสิทธิ์ ศิลปชัย • ค่าเงินบาท • การลงทุน