หลัง Intel เปิดตัวซีพียูเดสก์ท็อป 10th Gen ไป ทำให้ปัจจุบันซีพียูในท้องตลาดมีมากมายหลายรุ่นไปหมด ตัวเลขก็เยอะขึ้นจนอาจทำให้ผู้บริโภคปวดหัวกันได้ วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอการเปรียบเทียบสเปกเบื้องต้นซีพียูของทั้งสองค่าย ในระดับต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อช่วยผู้บริโภคอีกแรงในการเลือกซื้อซีพียูที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบัน การเทียบในบทความนี้คือจะพยายามใช้รุ่นใกล้กัน ที่มีราคาใกล้เคียงกันที่สุดมาเปรียบเทียบ ผู้เขียนจะใช้ซีพียูฝั่งอินเทลที่เป็นระดับ K มาเทียบกับรหัส X ของฝั่ง AMD เนื่องจากซีพียูรุ่นที่ไม่มีตัว X ของ AMD หลายรุ่น เป็นรุ่นที่มีจำหน่ายสำหรับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปโดยเฉพาะ ไม่สามารถซื้อแยกชิ้นได้ ส่วนซีพียูรหัส K ของ Intel เป็นซีพียูที่ไม่มีการล็อกตัวคูณสำหรับการโอเวอร์คล็อก และมีความเร็วคล็อกสูงกว่ารุ่นปกติ ซึ่งน่าจะคล้ายคลึงกับรหัส X ของฝั่ง AMD มากกว่า (แม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากรหัส K ไม่มีพัดลมระบายความร้อนแถมมาให้) คู่แรก ระดับเริ่มต้น Core i3-10100 vs Ryzen 3 3100 คู่แรกกับซีพียู Intel 10th Gen รุ่นเริ่มต้นอย่าง Core i3-10100 กับ Ryzen 3100 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบรุ่นราคาถูกสุดของทั้งสองค่าย ในเจ็นใหม่นี้ Intel ใส่ Hyper Threading มาให้ Core i3 รุ่นเริ่มต้นด้วย ทำให้มี 4 คอร์ 8 เธร็ด เท่ากับฝั่ง AMD แต่ฝั่ง Intel ก็ยังไม่รองรับ PCIe 4.0 และราคายังแพงกว่าอยู่ โดย Core i3 3100 เริ่มต้นที่ประมาณ 122 เหรียญสหรัฐ ส่วน Ryzen 3 3100 อยู่ที่ประมาณ 99 เหรียญ สำหรับผู้ประกอบคอมที่มีงบจำกัด AMD ชนะไปในด้านของความประหยัดในยกนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของซีพียูรุ่นเริ่มต้น ส่วนในฝั่ง Intel จะได้เปรียบในด้านบูสต์คล็อก ที่มากกว่าอยู่ 300MHz เท่านั้น หรือถ้าขยับขึ้นมาหน่อยในเรทราคาใกล้กันขึ้นมาอีกเล็กน้อย AMD จะมี Ryzen 3 3300X ที่ได้ 4 คอร์ 8 เธร็ด คล็อค 4.3/3.8GHz แต่ผลเบนช์มาร์คออกมาเหนือกว่า Ryzen 3 3100 แถมมี CCX แค่ชุดเดียว ลดความหน่วงระหว่างคอร์ลงด้วย คู่สอง รุ่นกลาง Core i5-10600K ปะทะ Ryzen 5 3600X รุ่นกลางในระดับราคาประมาณ 250-260 เหรียญสหรัฐ แม้รุ่น 10600K ของ Intel จะแพงกว่าเล็กน้อย และไม่มีพัดลมระบายความร้อนมาให้ แต่ก็ชนะไปด้านความเร็วคล็อก ถึงจะแพ้ไปในด้านการรองรับ PCIe 4.0 และ จำนวน Cache ก็ตาม แต่ปัจจุบัน PCIe 4.0 ก็ยังไม่มีการใช้งานที่แพร่หลายนัก แต่อาจไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้ในระยะยาว คู่ที่สาม รุ่นใหญ่ Core i7-10700 ปะทะ Ryzen 7 3700X คู่ที่สาม เป็นคู่รุ่นใหญ่ราคาประมาณ 320-330 เหรียญสหรัฐ ฝั่ง Intel เป็น Core i7-10700 ส่วนฝั่ง AMD เป็น Ryzen 7 3700X ยกนี้ AMD ชนะไปในด้านความเร็วคล็อกพื้นฐาน ส่วน Intel มีความเร็วบูสต์สูงกว่า แต่ ก็แพ้ไปในด้านความจุ cache และการไม่รองรับ PCIe 4.0 เช่นเคย คู่ตัวท็อป Core i9-10900K ปะทะ Ryzen 9 3900X (พร้อมแขกรับเชิญ Ryzen 9 3950X) ถ้าวัดกันเรื่องตัวท็อปในราคา 400 เหรียญปลายๆ คงต้องจับ Core i9-10900K มาชนกับ Ryzen 9 3900X เพราะระดับราคาใกล้เคียงกันซึ่ง AMD จะชนะไปในแทบทุกด้าน ยกเว้นความเร็วบูสต์ (ซึ่ง Intel ก็เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงได้ด้านนี้แทบจะทุกรุ่น) แต่จำนวนคอร์และเธร็ดของ AMD ที่มากกว่า น่าจะทำให้การทำงานแบบ multi-threads ทำได้ดีกว่าพอสมควร แต่ฝั่ง AMD ยังมีอีกรุ่นที่เป็นตัวท็อปจริงๆ คือ Ryzen 9 3950 X ซึ่งเป็นรุ่นที่มีราคากระโดดไปมาก คิดว่านำมาเปรียบเทียบกับ 10900K โดยตรง อาจจะแตกต่างเกินไป แต่จะได้จำนวนคอร์/เธร็ด ถึง 16 คอร์ 32 เธร็ด ที่แม้ความเร็วคล็อกจะต่ำกว่า แต่น่าจะถล่ม Intel ในด้านการทำงานแบบ multi-threads ไปเลย ติดที่ราคาจะกระโดดไปถึงประมาณ 749 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับ 488 เหรียญ ของ i7-10700K สรุป สเปกของ Intel Core 10th Gen กับ Ryzen 3000 Series อาจจะดูใกล้เคียงกัน โดย Intel มีความได้เปรียบกว่าในเรื่องความเร็วบูสต์ (เทคโนโลยี Turbo Boost Max ของ Intel) แต่ AMD ก็ยังมีข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนคอร์ สถาปัตยกรรม 7nm ความจุ cache ที่มากกว่า และการรองรับ PCIe 4.0 อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการเปรียบเทียบแค่สเปกบนหน้ากระดาษเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพคงต้องรอ benchmark เปรียบเทียบจากฝั่ง Intel Core 10th Gen ในแง่การทำงานด้านต่างๆ กันต่อไป นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า Ryzen 3000 series เป็นรุ่นที่ออกมาก่อน Intel Core 10th Gen และเราอาจได้เห็น Ryzen 4000 Series บนเดสก์ท็อปกันภายในปีนี้ หลัง 4000 Series ในโน้ตบุ๊ก ทำประสิทธิภาพได้ดี จน Intel ต้องร้อนๆ หนาวๆ ผู้บริโภคอาจต้องขอบคุณ AMD ที่ในระยะหลังพัฒนาสถาปัตยกรรม Zen ได้ดีจนแซงหน้า Intel ไปแล้วหลายช่วงตัว ก่อให้เกิดการแข่งขันและลดราคาต่อประสิทธิภาพของซีพียูลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ Intel ครองตลอดเจ้าเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่า Intel จะก้าวข้ามสถาปัตยกรรมเก่าที่สืบทอดมาจาก Skylake ตั้งแต่ปี 2015 และเดินหน้าเต็มตัวไปกับ Sunny Cove ที่ขนาด 10 นาโนเมตร ก่อนจะต่อยอดไป 7 นาโนเมตรได้เมื่อไหร่ Topics: IntelAMDCPURyzenCore