ธปท.เล็งมาตรการกระตุ้นศก. ชี้เบิกจ่ายอืด-ส่งออกจ่อติดลบ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธปท.เตรียมใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจ หลังประเมินเบิกจ่ายภาครัฐล่าช้ากว่าคาด

    ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า1.5% ส่งออกแนวโน้มติดลบ นักวิเคราะห์มอง "เซอร์ไพร์สตลาด" เตือนหั่นดอกเบี้ยช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่เงินไหลออก ขณะ"ศุภวุฒิ"ชี้นักลงทุนจับตาการเมืองใกล้ชิด

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลัง ด้วยการเร่งเบิกจ่ายและจ้างงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า แม้รัฐบาลพยายามกำหนดกรอบเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาส

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่านโยบายการเงินผ่อนคลายยังมีความเหมาะสม หากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่อาจใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ

    "ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมกังวลถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังช้ากว่าที่คาด ซึ่งเรายังจับตาอย่างใกล้ชิด หากการเติบโตของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ อาจมีความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายการเงินเพิ่มเติม"

    การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยที่ 2.00% แต่มีคณะกรรมการ 1 คน เห็นว่าควรลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    นายประสารกล่าวว่าเงื่อนไขสำคัญที่ธปท.จะพิจารณาว่าจะมีการปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายมากขึ้นไม่นั้น คือนโยบายการคลังของรัฐบาลที่เดิมมองว่าจะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในระยะที่ผ่านมาการเบิกจ่ายการคลังค่อนข้างช้ากว่าที่คาดมาก

    กนง.เกาะติดนโยบายการคลัง

    นายประสารกล่าวว่าปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เป็นช่วงเริ่มปีงบประมาณแผ่นดิน 2558 รัฐบาลมีนโยบายจะเร่งการเบิกจ่ายในระยะสั้น ซึ่ง กนง.จับตาประเด็นนี้อยู่ หากนโยบายการคลังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อาจมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน

    "แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องไม่ลืมกันว่า นโยบายการเงินไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ยาวิเศษแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ดังนั้นควรใช้นโยบายการคลังจะเหมาะสมกว่า" นายประสาร กล่าว

    นายประสาร กล่าวว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาการเมือง หรือปัจจัยต่างประเทศเข้ามากระทบ แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ประเมินว่า เป็นทิศทางที่ดี และช่วยดูดซับแรงกระทบจากภายนอกได้ เพราะหากการเงินผันผวน จะเป็นตัวซ้ำเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนจนถึงปัจจุบัน กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้ง จาก 2.75% เหลือ 2.0%

    ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า1.5%

    นายประสารกล่าวว่าจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจในทุกครั้งเราไม่ค่อยได้ยินผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ย จะได้ยินเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ย จะส่งผลดีกับภาคธุรกิจให้มีต้นทุนที่ถูกลง แต่ขณะที่ผู้เสียประโยชน์ คือ ผู้ฝากเงิน ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้เสียสละ

    สำหรับภาวการณ์เศรษฐกิจไทยการเติบโตในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนมาก จากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่เข้ามากระทบ โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้การเติบโตในไตรมาสที่ 1 ติดลบ และเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2

    "แบงก์ชาติคาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในครึ่งปีหลัง แต่การเติบโต ยังมองว่ามีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 1.5%"

    ชี้ส่งออกฟื้นช้า-ฉุดจีดีพีปีหน้าโตต่ำกว่า4.8%

    นายประสาร กล่าวว่าการส่งออกนั้นยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดจากหลายปัจจัย ทั้งสินค้าเกษตรยางพาราและข้าวทิศทางราคายังตกต่ำ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีปัญหา ทำให้การคาดหวังการเติบโตในระดับเลข 2 หลักเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ยาก และในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะติดลบ

    เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาต่ำกว่าที่คาด ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของยุโรป ปัญหาความขัดแย้งในรัสเซีย ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเข้ามาเพียง 25 ล้านคน จากเป้าหมายที่ 27 ล้านคน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต้องพึ่งพาการปัจจัยในประเทศทั้งการลงทุน และการบริโภคภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก

    "ผลของการฟื้นตัวของส่งต่อจีดีพีในปี 2558 อาจเติบโตต่ำกว่า 4.8% ตามที่คาดไว้"

    ทั้งนี้ภาครัฐบาลได้มีการเร่งการลงทุนมากขึ้นจากการขึ้นปีงบประมาณใหม่ในปี2558 และการเร่งงบประมาณที่ค้างท่อจากปีก่อน รวมถึงการเร่งอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน ของคณะกรรมการบีโอไอ ออกมาต่อเนื่องเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

    รับหั่นดอกเบี้ยมีผลต่อศก.จริง

    ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรีผู้อำนวยการศูนย์ วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด กล่าวว่า หากธปท.ดำเนินนโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพร์สตลาดการเงินอย่างมาก เพราะภาวะปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโต

    "ภาวการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ถือว่าฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ยอมรับว่า เป็นช่วงเริ่มต้นของนโยบายการคลังที่จะอัดฉีดงบเข้าสู่ระบบ และยังมีอีกหลายมาตรการทางการคลัง ที่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้"นายเบญจรงค์ กล่าว

    หากจะใช้นโยบายการเงินจริง จะเป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน และภาคเอกชนมากกว่า เพราะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จะมีผลทางเศรษฐกิจได้จริง ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือนจะเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ซึ่งช่วงนั้นหลายสำนักที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ มองว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนั้น จะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรเข้ามากระตุ้น

    อีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ย อาจส่งผลให้เงินทุนต่างชาติอาจเคลื่อนย้ายออกจากไทยได้ และทำให้ความเสี่ยงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558 อาจปรับมากขึ้นกว่าปกติ จึงมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ไม่เหมาะสม

    แหล่งข่าวศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ความคิดเห็นของผู้ว่าธปท. น่าจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคการคลัง ให้เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยสังเกตจากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในรอบที่ผ่านมา กนง.ได้มีความเห็นว่า การคลังควรใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

    'ศุภวุฒิ'ชี้ต่างชาติจับตาการเมือง

    ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัยธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ภัทร กล่าวในเวทีเสวนา "อนาคตเศรษฐกิจไทย ก้าวต่อไป" ว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และมีรัฐธรรมนูญ2540 ซึ่งเน้นการสร้างการเมืองให้แข็งแรง บางทีได้สิ่งที่แข็งแรงเกินคาด และทำให้มีปัญหาเชิงการเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

    "ในอดีตปัญหาการเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อย ไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทย ยังเติบโตได้ 7% ตลอด ปัญหาการเมืองเริ่มกระทบต่อเศรษฐกิจช่วงปี 2549 ต่างชาติเริ่มสอบถามการเมืองไทย จากเมื่อก่อนที่ไม่เคยถาม"

    นายศุภวุฒิ กล่าวว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตช้า หลังปัญหาการเมืองปี 2549 โตแค่ 3% ต่อปี แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียน ประเทศไทยเติบโตน้อยกว่าเพื่อนบ้านกว่า 1%

    "ขณะนี้นักลงทุนและนักธุรกิจยังคงรอดู ปัจจัยทางการเมืองโดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นการจัดสรรอำนาจทางการเมือง การถ่ายโอนอำนาจ ออกมาแล้วจะมีข้อถกเถียงกันหรือไม่ และหลังการเลือกตั้ง เปลี่ยนรัฐมนตรี นโยบายจะเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งเศรษฐกิจจะเดินโดยปราศจากความชัดเจนทางการเมืองไม่ได้ นักลงทุนจึงต้องรอดู และยิ่งหากมีการปรับเปลี่ยน หรือมีความไม่ชัดเจนเรื่องกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ การลงทุนใหม่ยิ่งไม่เข้ามา"นายศุภวุฒิ กล่าว

    ปรับเศรษฐกิจปีนี้โตแค่ 1%

    นายศุภวุฒิ กล่าวว่าแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะมีการปรับคาดการณ์ลง จากเดิมคาดว่า จะเติบโต 1.8% เหลือเพียง 1% กว่า จากการส่งออกที่ต่ำกว่าคาด ส่วนปีหน้าคาดว่าจะโต 4% หลักๆ มาจากการส่งออก ที่เติบโตจากฐานที่ต่ำ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มาก

    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก เพราะการส่งออกมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็มีความผันผวน จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ยุโรป และญี่ปุ่นจะมีการทำมาตรการคิวอี แต่ก็มีผลไม่มากเมื่อเทียบกับสหรัฐ

    นโยบายรัฐถ่วงศก.โตไม่เต็มที่

    นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า วิกฤติการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำเหมือนปี 2540

    สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มที่ มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ที่เป็นตัวถ่วง และแก้ลำบาก โดยเฉพาะประสิทธิภาพแรงงาน ที่เติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ส่วนประเทศอื่นต่างส่งเสริมแรงงานย้ายไปยังภาคที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานโดยรวมต่ำ

    "ภาครัฐไม่ควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนยังอยู่ในภาคเกษตร เช่น มาตรการราคาสินค้าเกษตร เพราะจะทำให้แรงงานไม่ย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

    นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่าจะดีกว่าปีนี้ ที่โตใกล้ 1% จากภาคส่งออกไม่โต แต่ปีหน้าจะดีขึ้นมีความเป็นไปได้จีดีพีถึง 4% จากฐานต่ำในปีนี้

    Tags : ธปท. • กระตุ้นเศรษฐกิจ • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ส่งออก • การคลัง • กนง.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้