ดร. นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ และยังเป็นรองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสเฟซบุ๊กถึงความเห็นต่อแอปหมอชนะ ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมา นพ.นวนรรน ได้เข้าไปให้ความเห็นกับทีมงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญการจัดการความเป็นส่วนตัวข้อมูลสุขภาพ (health information privacy specialist) ได้ถอนตัวจากโครงการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังพบว่ามีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเตรียมบังคับตรวจสอบลงแอปหมอชนะ โดยจะตรวจ QR ตามจุดคัดกรองหากไม่สามารถแสดง QR ได้ก็จะไม่ให้เข้าพื้นที่ นพ.นวนรรน ระบุว่าแอปกลุ่ม Contact Tracing นั้นมีประโยชน์เพียงในฐานะข้อมูลเสริม โดยแอปนี้ไม่ใช่ silver bullet โดยมันเองมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการข้อจำกัดของแอปเองที่ทำงานไม่ได้หากไม่เปิด GPS และ Bluetooth หรือมีรูปแบบการใช้งานอื่น เช่น ใช้โทรศัพท์หลายเครื่อง หรือหลายคนใช้โทรศัพท์ร่วมกัน เขาระบุว่าการใช้มาตรการเชิงบังคับในการติดตั้งแอปเช่นนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนบางกลุ่ม เช่นกลุ่มคนชั้นล่าง และภาครัฐไม่ควรทำตัวส่งเสริมการใช้แอปในลักษณะเช่นนี้เสียเอง นพ.นวนรรน ระบุว่าเขาจะใช้แอปนี้เอง แต่ยืนยันว่ามันควรเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน และหากประชาชนเชื่อใจมาตรการดูแลและคุ้มครองที่เหมาะสมก็จะทำให้คนยอมรับและใช้งานมากขึ้นเอง แอปพลิเคชั่นหมอชนะ นับเป็นแอปพลิเคชั่นที่ดึงข้อมูลกลับเซิร์ฟเวอร์มากที่เป็นอันดับต้นๆ ในแอปกลุ่มเดียวกัน โดยแอปพลิเคชั่นจะอัพโหลดข้อมูลพิกัดจาก GPS และการรายการเข้าใกล้กัน (cross-path) ขึ้นเซิร์ฟเวอร์เสมอ ทำให้เซิร์ฟเวอร์มองเห็นข้อมูลการเข้าใกล้ระหว่างกันของผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่แอปกลุ่มเดียวกันมักหลีกเลี่ยงการอัพโหลดข้อมูลเช่นนี้ แต่อาศัยเซิร์ฟเวอร์จะมองเห็นรายการเข้าใกล้กันต่อเมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยและขอข้อมูลในโทรศัพท์จากผู้ป่วยให้อัพโหลดขึ้นเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น และส่วนใหญ่แอปกลุ่มเดียวกันมักไม่เก็บข้อมูล GPS เลย ยกเว้นเช่นอินเดีย ที่มา - Facebook: Nawanan Theera-Ampornpunt Topics: ThailandPrivacy