แบงก์รับทำเวนเจอร์แคปช่วยเอสเอ็มอีเกิดยาก เหตุผู้ประกอบการยังหวงธุรกิจ ขณะที่แบงก์มีข้อจำกัดด้านความรู้จริง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการร่วมทุน (Venture Capital) เพื่อข้าไปช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี ที่มีข้อจำกัดในการเติบโตถือเป็นเรื่องที่ดี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า แต่เท่าที่พบปะกับลูกค้าเอสเอ็มอีในกลุ่มที่เริ่มธุรกิจ (Start Up) หรือกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาได้ พบว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้ติดปัญหาเงินทุน หลายรายประสบความสำเร็จทั้งที่มีเงินทุนเพียง 1 ล้านบาท แต่ความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอี คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมดีๆ เป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ หากมีแสดงว่าอัตราผลตอบแทนของธุรกิจอยู่ในระดับสูง ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งใคร เพราะอุปสรรคหนึ่งของการร่วมทุน คือ เจ้าของไม่ต้องการให้คนนอกเข้าไปบริการจัดการ ดังนั้นในส่วนของธนาคารกรุงเทพ จึงไม่สนใจแนวทางการร่วมทุน ขณะที่บริการทางการเงินในรูปแบบของสินเชื่อก็เพียงพออยู่แล้ว เพราะเมื่อเริ่มต้นธุรกิจไป "ทุนไม่ได้เป็นปัญหากับเอสเอ็มอี อยู่ที่ความคิดว่าเป็นที่สนใจของตลาดหรือเปล่า ดังนั้นถ้าเป็นธุรกิจที่ดีก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องใช้เวนเจอร์แคป หากเริ่มต้นธุรกิจและสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ สินเชื่อก็จะเข้ามาหล่อเลี้ยงการผลิต หรือช่วยในการขยายงาน" ด้านนายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวทางการร่วมทุนถือเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอีแต่ลูกค้าที่จะยอมรับการร่วมทุนยังมีจำกัด หากเทียบแล้วกับการให้สินเชื่อจะง่ายกว่า เพราะง่ายในการบริหารมากกว่า เพราะธนาคารไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจธุรกิจเหมือนกันร่วมทุน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายจะทำได้บนหลักประกัน หากธนาคารตั้งกองทุนร่วมทุน แล้วเข้าไปถือหุ้นกับลูกค้าธนาคาร ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเข้าไปบริหารจัดการและติดตามการทำธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีความหลากหลาย "ลูกค้ามี 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ไม่รู้จัก กับกลุ่มที่รู้จักเวนเจอร์แคป กลุ่มหลังจะมีความรู้ ความเข้าใจในประโยชน์ของกองทุนเหล่านี้ และพร้อมที่จะใช้ช่องทางนี้เข้ามาช่วยเรื่องเงินทุน แต่เทียบแล้วการให้สินเชื่อยังง่ายกว่า เพราะไม่อยากให้แบงก์หรือผู้ถือหุ้นอื่นเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจของธุรกิจ ในขณะที่ธนาคารเอง มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์งบการเงินของแต่ละอุตสาหกรรมก็จริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจนั้นจริงๆ" นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การดูแลลูกค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีหน้าใหม่ (Start Up) ธนาคารให้บริการในรูปแบบของสินเชื่ออยู่แล้ว และให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและความรู้ เพื่อให้ธุรกิจไปได้ ส่วนการเข้าไปร่วมทุนมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะต้องมีเงื่อนไขการเข้าไปถือหุ้น แต่ไม่สามารถทำธุรกิจได้เต็มที่ ต้องปล่อยให้เจ้าของธุรกิจการดำเนินการ นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป็นธนาคารแห่งเดียวที่มีกองทุนร่วมทุน เพื่อเข้าไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุนข้าวกล้าจำกัด (บลท.ข้าวกล้า) ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการร่วมทุนยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในการเลือกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนให้ถูกต้องและมีโอกาสได้เงินคืน เพราะการลงทุนในรูปแบบนี้เป็นการเอาทุนไปลงโดยไม่มีส่วนในการตัดสินใจ โอกาสที่จะได้เงินคืนถือเป็นเรื่องยาก ขณะที่การให้สินเชื่อยังได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน แต่การร่วมทุนต้องรอจนกว่าบริษัทเหล่านั้น จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และขายหุ้นได้เงินคืนกลับมา นับตั้งแต่จัดตั้ง บลท.ข้าวกล้า มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนไปแล้ว 200-300 ล้านบาท "แบงก์ไม่ได้มีหน้าที่ใส่ทุน เราเป็นผู้ให้กู้ แบงก์ก็ไม่ได้อยากทำ เพราะไม่มีความสามารถมากพอว่าควรจะลงทุนในบริษัทนี้หรือไม่ ถ้าเลือกธุรกิจถูกก็ได้เงินคืนทุน แต่ก็ไม่ได้มากนักที่จะได้เงินทุนคืน ซึ่งผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นต่างจากเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ทำให้ที่ผ่านมาธนาคารเลือกค่อนข้างมากที่จะเข้าไปร่วมทุน โดยดูจากสินเชื่อและเงินทุนของลูกค้าหากไม่พอจริงๆ และกว่าจะเห็นผลตอบแทน ต้องรอให้บริษัทเหล่านั้นเข้าตลาด ซึ่งใช้เวลานานขณะที่เงินปันผลคาดหวังได้ยาก" Tags : โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ • เอสเอ็มอีแบงก์ • เวนเจอร์แคป • ธนาคาร