กูรูห่วงเศรษฐกิจโลกชะลอ ซ้ำเติม'ส่งออก-ท่องเที่ยว'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงเศรษฐกิจ 3 กลุ่มหลัก "ญี่ปุ่น-ยุโรป-จีน" หวั่นซ้ำเติมส่งออกไทย

    ประเมิน "คิวอี" ญี่ปุ่นไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เหตุปริมาณเงินใหม่น้อย ยุโรปยังไร้ปัจจัยหนุนฟื้นตัว มองการชะลอตัวเศรษฐกิจจีน ส่อฉุดการบริโภคไทยลงตาม ผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงฉุดรายได้ภาคเกษตร "เอชเอสบีซี" ชี้เงินบาทแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์

    การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานได้คาดการณ์เอาไว้ ทำให้องค์เศรษฐกิจโลกหลายแห่ง ต้องออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง เรื่องดังกล่าวเริ่มสร้างความกังวลใจให้กับหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจของไทยด้วย แม้แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป และ จีน ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐ เชื่อว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้ผลดีจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

    สำหรับประเทศที่น่าห่วงสุด คือ ญี่ปุ่น เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และมาตรการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านการเพิ่มฐานเงิน (คิวอี) อีก 20 ล้านล้านเยน เป็น 80 ล้านล้านเยน แม้จะทำให้ตลาดหุ้นตอบรับในทิศทางที่ดี แต่หากมาตรการนี้ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้จริง จะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อถือของญี่ปุ่นมากขึ้น

    "ผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เงินเฟ้อยิ่งเตี้ยลง โอกาสที่จะเข้าใกล้เป้าหมาย 2% จึงยาก มองไปข้างหน้ายังมีหนี้สาธารณะอีก 200% ถือเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาระตรงนี้ ขณะเดียวกันถ้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ ก็จะกระทบต่อความเชื่อถือ" นายเชาว์กล่าว

    ศก.จีน-ยุโรปกระทบส่งออกไทย

    ส่วนเศรษฐกิจยุโรป การแก้ปัญหาค่อยๆ คืบหน้าขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจจีน แม้แนวโน้มชะลอลง แต่ภาครัฐยังมีกำลังพอที่จะผลักดันให้เติบโตได้ แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

    นายเชาว์ กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกไทย โดยเฉพาะจีน ซึ่งนำเข้าสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก ขณะที่ยุโรปปีหน้า สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) กำลังจะหมดลง ยิ่งทำให้ส่งออกไทยไปยุโรปอาจน้อยลงตามไปด้วย

    สำหรับประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์เป็นติดลบ 0.3% จากเดิมคาดขยายตัวได้ 3% ส่วนปีหน้ายังคงประมาณการเติบโต 3.5% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดเติบโต 1.6% ส่วนปีหน้าขยายตัว 4%

    คาดญี่ปุ่นชะลอขึ้นแวท

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคล้ายกับเศรษฐกิจไทย ตรงที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยุโรป รวมทั้งจีน

    สำหรับญี่ปุ่น พยายามใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายการเงินอย่างเดียว ไม่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากนัก ต้องอาศัยนโยบายการคลังเข้าช่วยด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ ญี่ปุ่นอาจชะลอการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป

    "คิวอีของญี่ปุ่น คงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะปริมาณเงินที่ออกมาเพิ่มไม่ได้มาก แต่ออกมาในจังหวะที่เฟดยุติคิวอี และเป็นการออกแบบเซอร์ไพร์สตลาด คิดว่าเป็นความตั้งใจของบีโอเจ ที่จะทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง เพื่อผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ" นายเบญจรงค์ กล่าว

    สำหรับเศรษฐกิจยุโรป ยังไม่มั่นใจว่า ปีหน้าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตที่ชัดเจน และเชื่อว่าอีซีบีอาจมีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติม กลุ่มประเทศยุโรป ยังมีปัจจัยกดดันด้านการคลังที่ตึงตัว อาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังทำได้ไม่เต็มที่นัก

    ภาพรวมศก.โลกมีผลต่อไทย

    ส่วนเศรษฐกิจจีน การชะลอตัวของจีน มีผลต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เพราะนอกจากการส่งออกไปจีนที่ลดลงแล้ว ยังมีผลต่อการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงด้วย

    "เศรษฐกิจจีนเชื่อมโยงกับการบริโภคของเราค่อนข้างมาก การที่เศรษฐกิจจีนชะลอทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับลดลง เช่น ราคายางพารา ส่งผลต่อภาคเกษตรที่มีรายได้ลดลง ทำให้การบริโภคปรับลดลงตามด้วย การชะลอของเศรษฐกิจจีนจึงต้องติดตาม" นายเบญจรงค์ กล่าว

    นายเบญจรงค์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ คงมีผลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะภาคส่งออก โดยศูนย์วิเคราะห์ธนาคารทหารไทย มองว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตเพียง 3.5% ส่วนปีหน้าคาดเติบโตได้ 4%

    จับตาส่งออก-ท่องเที่ยวไทย

    นายพิพัฒน์ เหลือนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถือว่าไม่ได้เลวร้ายมากนัก เพราะยังมีสัญญาณการฟื้นตัวให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนของยุโรปมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพียงแต่ภาพการฟื้นตัวอาจดูน้อยกว่าที่หลายคนคาดหวังเอาไว้

    ทั้งนี้ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ คงมีผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกไทยรวมทั้งการท่องเที่ยวอยู่บ้าง โดยเฉพาะการส่งออก ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่การส่งออกของไทยกลับไม่ขยายตัวเลย

    "ประเด็นที่ทำให้การส่งออกต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะการค้นพบเชลล์ออย ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับลดลง กดดันให้สินค้าส่งออกของไทยแม้จะมีการส่งออกได้แต่มูลค่าการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาที่ตกต่ำ" นายพิพัฒน์กล่าว

    หนุนการลงทุนไทยเติบโตต่อเนื่อง

    นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ประเมินผลกระทบหลังบีโอเจ ผ่อนคลายคิวอีว่า จะทำให้ปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในเอเชีย รวมถึงไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะไทยยังเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น เช่น ธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

    ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นปล่อยสินเชื่อในเอเชียเพิ่มขึ้นมาก หลังการประกาศใช้คิวอีมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2556 จนถึงขณะนี้สินเชื่อมีมูลค่าเกินกว่า 4.5 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 3.64 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2555 และสูงกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการเงินในเอเชียปี 2540

    ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเอชเอสบีซี ระบุว่า การลงทุนโดยตรงในเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจของญี่ปุ่น ที่ขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อต้นทุนที่ถูกลง แต่เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย

    แนวโน้มบาทอ่อนค่าแตะ 33

    นางสาวนลิน มองว่า ส่วนเงินบาทนั้น นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเอชเอสบีซี ประเมินผลจากการยุติมาตรการคิวอีของสหรัฐ และการเพิ่มสภาพคล่องของบีโอเจว่า เงินบาทจะค่อยๆ อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ช่วงสิ้นปีหน้า เป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นหลัก

    ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ เศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน และการฟื้นตัวที่ยังไม่ค่อยมั่นคงของเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจกำลังพัฒนา และสกุลเงินในประเทศเหล่านี้ เผชิญความผันผวนได้ แม้จะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดีก็ตาม การที่เงินเยนอ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อไทย และส่งผลดีต่อผลกำไรของบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว

    ส่วนตลาดพันธบัตร ผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรไทยมีไม่มาก ช่วงที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรไทยไม่ได้เป็นตลาดที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจมากนัก และผลตอบแทนจากตลาดพันธบัตรไทยไม่ได้สูง เมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรเกิดใหม่แห่งอื่นๆ โดยเทียบอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) และการป้องกันความความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (fx-hedged) ดังนั้นกระแสเงินที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยจากนี้จึงไม่มีนัยสำคัญ

    Tags : คิวอี • เศรษฐกิจโลก • ญี่ปุ่น • เชาว์ เก่งชน • ส่งออก • ยุโรป • ท่องเที่ยวไทย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้