ชงภาษีมรดกเข้าครม.ทายาทเก็บต่ำกว่า10% หากเจ้ามรดกมีทายาทหลายคน ได้รับแบ่งสุทธิไม่เกิน50ล.ต่อคน ไม่ต้องเสียภาษี "คลัง" ชงภาษีมรดกเข้าครม. 11 พ.ย.นี้ โดยจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท มีอัตราเพดานการจัดเก็บภาษีที่ 10% ของมูลค่า พร้อมเสนอทายาทสายตรงเก็บต่ำกว่า 10% ส่วนอัตราจัดเก็บจริงขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยต้องออกเป็นพ.ร.ฎ.บังคับใช้อีกครั้ง แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอร่างพ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ หรือวันที่ 11 พ.ย. โดยอัตราภาษีที่เสนอจะกำหนดเพดานการจัดเก็บที่ 10% ของมูลค่ามรดก ส่วนอัตราการจัดเก็บจริงนั้น จะต้องมีการออกพ.ร.ฎ.ออกมาประกาศใช้อีกครั้ง "อัตราภาษีมรดกตามกฎหมายดังกล่าว จะกำหนดอัตราเพดานไว้ที่ 10% ส่วนการจัดเก็บจริงจะต้องมีการออกพ.ร.ฎ.เพื่อกำหนดอัตรา ซึ่งการหารือภายในกระทรวงการคลัง เห็นว่าอัตราจัดเก็บจริง ควรจะต่ำกว่า 10% สำหรับทายาทสายตรง แต่หากเป็นบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แล้วได้รับมรดก อาจจัดเก็บในอัตราเต็มตามเพดาน" รายงานข่าวกล่าว รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ภาษีมรดกของไทย ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่จัดเก็บ โดยหลายๆ ประเทศในโลกที่มีการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งส่วนใหญ่ เก็บภาษีจากการรับมรดก ( Inheritance) ควบคู่กับภาษีการให้ ( Gift Tax) นั้น เก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศไทยมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 10 -70% ฝรั่งเศส เก็บในอัตรา 35% กรณีเป็นทายาทสายตรง แต่ถ้าไม่ใช่ญาติ จะจัดเก็บในอัตรา 60% ส่วนเกาหลีใต้ จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า 10-50% ขณะที่สิงคโปร์ใช้วิธีการจัดเก็บจากกองมรดก (Estate Tax) ในอัตราก้าวหน้า 5-10% ,ไต้หวัน เก็บจากกองมรดก และภาษีการให้ โดยภาษีกองมรดก จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 2-50% และภาษีการให้ อัตราก้าวหน้า 4-50% รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อมีการใช้ พ.ร.บ.ภาษีมรดกแล้ว จะเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร ที่จะต้องตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรับโอนทรัพย์สิน เช่น กรมที่ดิน ตลาดหลักทรัพย์ ,กรมการขนส่งทางบก และสถาบันการเงิน เป็นต้น ว่า มีการโอนทรัพย์สินให้กับบุคคล ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปหรือไม่ เพื่อที่กรมสรรพากร ในฐานะผู้จัดเก็บภาษีมรดก จะใช้เป็นฐานข้อมูล ในการตรวจสอบว่า เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดกหรือไม่ อัตราภาษีมรดกของไทย ที่จะกำหนดเพดานไว้ที่ 10% ไม่เป็นอัตราภาษีแบบก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังกำหนดฐานภาษี ยกเว้น การรับหรือการให้มรดกใน 50 ล้านบาทแรก หากเจ้าของมรดกมีทายาทหลายคน และแบ่งมรดกให้แต่ละคน โดยแต่ละคนที่ได้รับมรดกสุทธิไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็ไม่มีภาระภาษี ทั้งนี้ เหตุผลของการจัดเก็บภาษีมรดก ไม่ใช่เพื่อต้องการรายได้เข้ารัฐบาล แต่เพื่อความเป็นธรรมในสังคม และการกระจายรายได้ เนื่องจาก ทรัพย์สินที่พอกพูนขึ้น จนเป็นมรดกนั้น เกิดขึ้นจากการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรที่รัฐได้ลงทุนในประเทศ จึงมีภาระที่สมควรที่ผู้ได้รับมรดก ควรมีภาระต้องจ่ายคืนให้รัฐ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม Tags : กระทรวงการคลัง • ภาษีมรดก • ทายาท