เคทิสเล็งระดมทุนเพิ่มกำลังผลิต

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 10 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "เคทิส" ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 2 แห่งคาดใช้เงินลงทุนแห่งละ 9,000 ล้านบาทรับการเปิดโซนนิ่งเกษตร

    นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคทิส เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นขอตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล 2 แห่งกับกรมโรงงานกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปิดพื้นฐานปลูกอ้อยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในระดับเท่าตัวจาก ปัจจุบันกำลังการผลิตรวม 8.8 หมื่นตันต่อวันจากโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่ 3 แห่ง จะเพิ่มเป็น 1.1 แสนตันต่อวัน โดยใช้งบลงทุนแห่งละ 9 พันล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2- 3 ปี ข้างหน้า

    "สาเหตุที่บริษัทต้องยื่นการขอตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่ม อีก 2 แห่ง เนื่องจาก นโยบายรัฐบาลจะจัดโซนนิ่งการปลูกพืชใหม่ เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว และหาพืชทดแทน ซึ่งอ้อยเป็นพืชที่มีระบบการจัดการที่ดี โดยจากการสำรวจพบว่า จะมีพื้นที่สามารถปลูกอ้อยเพิ่มเติมมาอีก 10 ล้านไร่ จะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 100 ล้านตันต่อปี เป็น 200 ล้านตัน ในส่วนของการสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นั้น บริษัทตั้งใจว่ากำลังการผลิตแต่ละแห่งจะหีบอ้อยได้ไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นตันต่อวัน หรือ 2.5 ถึง 3 ล้านตันต่อปี ส่วนทำเลที่ตั้งยังขอปิดเป็นความลับทางธุรกิจ"

    เขากล่าวว่า บริษัทมีนโยบายในการทำธุรกิจน้ำตาลอย่างครบวงจร ดังนั้นในการสร้างโรงงานน้ำตาลจะต้องก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า และโรงงานผลิตเอทานอลในบริเวณข้างเคียง ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้รายได้ในกลุ่มสินค้าน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

    อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการลงทุนก่อสร้างโรงน้ำตาลและธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ซึ่งบริษัทต้องหาช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ หลังจากปัจจุบันบริษัทเข้าทำการจดทะเบียนในตลาดหุ้นไปก่อนหน้านี้ โดยอยู่ระหว่างให้ทีมการเงินของบริษัทวิเคราะห์ช่องทางระดมทุนที่เหมาะสม นอกเหนือจากการเพิ่มทุน

    สำหรับโครงสร้างรายได้ในปัจจุบันมาจากน้ำตาล 70 % และผลิตภัณฑ์อื่นๆ 30 % แต่ในอนาคตบริษัทตั้งเป้าจะลดสัดส่วนการพึ่งพิงน้ำตาลลดลงเหลือ 40 % และธุรกิจอื่น ที่ 60 % เพื่อลดความผันผวนจากราคาน้ำตาลที่เข้ามากระทบกับรายได้ ขณะที่รวมถึงกำไรขั้นต้นในธุรกิจไบโอยังมีระดับที่สูงกว่า โดยในปีหน้าบริษัทมองว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไบโอจะเพิ่มขึ้น 40 % จากการเปิดการผลิตโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรงงาน ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ 65 เมกะวัตต์ มาอยู่ที่ 165 เมกะวัตต์ ส่วนธุรกิจน้ำตาลยังมีทิศทางรายได้ใกล้เคียงกับปีนี้ ส่วนธุรกิจน้ำตาลในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจไม่ดีเหมือนที่คาดไว้ เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ราคาน้ำตาลไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่า รายได้จากธุรกิจน้ำตาลจะยังเติบโตจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 10%

    สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2558 นั้น บริษัทคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยในประเทศไทยจะลดสอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก เพราะประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีนี้ที่ 103.6 ล้านตัน เหลืออยู่ที่ 92-95 ล้านตัน กดดันให้กำลังการผลิตน้ำตาลลดลงไปด้วย แต่ในส่วนของโรงงานนั้นมองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจาก ที่ตั้งโรงงานทั้ง 3 แห่งไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ภัยแล้ง ทำให้บริษัทเชื่อว่าจะมีความได้เปรียบในปริมาณอ้อย จึงประเมินว่า ตัวเลขการผลิตอ้อยจะไม่น้อยกว่าปีก่อน นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากราคาน้ำตาลโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ มาเกื้อหนุน จากการเริ่มเข้าสู่ช่วงการผลผลิตจะน้อยกว่าการบริโภค ตามวัฏจักรราคาอ้อยที่จะมีวงรอบการปรับขึ้น 3- 4 ปี และปี 2558 ถือเป็นจุดเริ่มต้น

    แต่อย่างไรก็ตามความแห้งแล้งจะทำให้คุณภาพอ้อยปรับตัวลดลงลดลง ทำให้ยีลด์น้ำตาลทั่วประเทศลดลงไปด้วย จากปีที่นี้ปริมาณอ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้ 108 กิโลกรัม ปี 2558 อ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้ที่ 100 กิโลกรัม ส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ ทั้งโมลาสที่ใช้ทำเอทานอล ปรับตัวลดลงด้วย ซึ่งในกลุ่มเคทิส ปัจจุบันไม่ได้ใช้โมลาส ทำเอทานอลทั้งหมด มีการแบ่งบางส่วนออกขายไปบ้าง แต่ทางกลุ่มเชื่อว่ายังมีวัตถุดิบเพียงพอในการทำเอทานอล

    ส่วนโรงไฟฟ้า อาจมีผลบ้างจากชานอ้อยที่จะลดลง ซึ่งทางบริษัทได้เตรียมการปรับปรุงการใช้พลังงานของโรงงานอ้อยใหม่ ให้ลดลง และเดินหน้าซื้อเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวอ้อยใหม่ จากเดิมที่จะทิ้งใบและเศษต้นอ้อย ให้เก็บเข้ามาในระบบด้วย เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า โดยจะเริ่มใช้ในฤดูหีบครั้งต่อไป ทำให้ระยะเวลาการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 6 เดือนต่อปี มาอยู่ที่ 8 ต่อปีแม้ปริมาณอ้อยจะลดลง ซึ่งเป้าหมายของบริษัทจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 เดือนต่อปี

    นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อนั้น มองว่า เกิดจากการประชาสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับนักลงทุนน้อยเกินไป อีกทั้งการคำนวณราคาหุ้นเป็นการนำผลประกอบการย้อนหลังมาใช้วิเคราะห์ราคาที่เหมาะสม ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทอาจจะดูว่าแพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหลังจากเข้าจดทะเบียนนั้น บริษัทให้ข้อมูลกับนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งในระยะหลังทำให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อหุ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นการถือหุ้นระยะยาว

    อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทกังวลคือสภาพคล่องในหุ้นเริ่มลดลง เพราะนักลงทุนมีการเข้าซื้อต่อเนื่อง และผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีนโยบายการขายหุ้นออกมา ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้เข้ามาหารือกับบริษัทเพื่อหาแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องในหุ้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการหาแนวทางที่เหมาะสม โดยแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการใช้ปันผลเป็นหุ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

    Tags : ณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล • น้ำตาล • เคทิส

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้