ความคืบหน้าต่อจากข่าว ทีม Code for Public ร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลไทยเตรียมปล่อยแอปติดตามการเข้าใกล้ผู้ป่วย COVID-19 วันนี้แอพตัวนี้เปิดตัวแล้วในชื่อว่า หมอชนะ "หมอชนะ" เป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในบริเวณนั้นมีผู้ป่วย COVID-19 หรือไม่ ตอนนี้แอพเปิดให้ดาวน์โหลดแล้วบน App Store และ Play Store แอพ "หมอชนะ" คืออะไร? รูปแบบการใช้งาน "หมอชนะ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติด COVID-19 ในการใช้งาน ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพ "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และตอบคำถามประเมินอาการของตัวเอง โดยแอพจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ผมลองใช้งานแล้วพบว่าคำถามมีทั้งหมด 4 ข้อ ตามภาพ ซึ่งถ้าตอบว่า "ไม่" ทุกข้อ จะได้ค่าความเสี่ยงเป็นสีเขียว จากนั้นแอพจะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่เราไม่สามารถดูได้ว่าผู้ใช้คนไหนอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอพแจ้งเตือนผ่าน notification หากเราเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth) ทางผู้พัฒนาแอพระบุว่า การประเมินความเสี่ยงผ่าน "หมอชนะ" ช่วยให้บุคลากรด้านการแพทย์สามารถเช็คข้อมูลของผู้ที่มาขอรับบริการทางการแพทย์ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนของการรักษา-ส่งตรวจได้แม่นยำมากขึ้น แก้ปัญหาเรื่องการปกปิดอาการ COVID-19 ลงไปได้ ข้อมูลส่วนตัว ผมลองดาวน์โหลด "หมอชนะ" มาใช้งาน พบว่าต้องถ่ายภาพโพรไฟล์ตัวเองก่อนจึงสามารถใช้แอพได้, แอพขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลตำแหน่ง (location), การเคลื่อนที่ (motion), Bluetooth โดยประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเข้าแอพ แอพ "หมอชนะ" ไม่ขอข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชื่อหรือบัตรประชาชน (ยกเว้นขอให้ถ่ายภาพตัวเอง) ทางทีมผู้พัฒนาระบุว่าตัวโค้ดของแอพเป็นโอเพนซอร์สให้ตรวจสอบได้ ส่วนข้อมูลที่บันทึกเข้าแอพจะถูกทำลายทิ้งหลังผ่านวิกฤตแล้ว และจะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย ใครคือผู้พัฒนา "หมอชนะ" "หมอชนะ" เป็นผลงานร่วมระหว่าง กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ Code for Public, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร-วิเคราะห์ข้อมูลชื่อ กลุ่มช่วยกัน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาอีกจำนวนมาก (รายชื่อเต็มๆ ท้ายข่าว) ตัวแทนผู้พัฒนาที่ร่วมแถลงข่าว "หมอชนะ" มี 3 คน ได้แก่ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (National Digital ID - NDID) นายสุทธิพงศ์ กนกากร (บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด) ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ชื่อผู้พัฒนาแอพ "หมอชนะ" ใน App Store คือ Electronic Government Agency (Public Organization) Thailand ส่วนบน Play Store คือ Digital Government Development Agency, ThailandTools ซึ่งก็คือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในงานแถลงข่าวยังมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวด้วย คลิปการแถลงข่าวเปิดตัว "หมอชนะ" รายชื่อผู้สนับสนุนโครงการ "หมอชนะ" สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. ทีโอที บจก. ไปรษณีย์ไทย หน่วยงานด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพล สภากาชาดไทย องค์กรภาคเอกชน Dtac AIS และ True ด้านการเงินธนาคาร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี บจก. Blockfint บจก. Cleverse บจก. ทรูเวฟ (ประเทศไทย) บจก. Invitrace บจก. เอเทน เทคโนโลยีส์ (ไทยแลนด์) บจก. NODSTAR Longdo Map ด้านพลังงาน ได้แก่ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ด้านยานยนต์ โลจิสติกส์และก่อสร้าง ได้แก่ บจก. เจแปนคาร์ แอดแซสเซอรี่ แอนด์ พาร์ท บจก. ฮอนด้า ประเทศไทย บจก. เค.คอนเนค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) บจก. โกลบเทค ด้านบริการสื่อสารและบันเทิง ได้แก่ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ Rabbit Digital Group Likehouse บจก. แมด อะไรดี สื่อมวลชนและกลุ่มพลังอิสระเพื่อสังคม บมจ. มติชน บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สำนักข่าวอิศรา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และมูลนิธิสะพานบุญ Topics: COVID-19Mobile AppPrivacy