โบรกฯระบุเศรษฐกิจไทยได้อานิสงส์"คิวอี"ญี่ปุ่น แนะจับตาสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย-ยุโรปไม่ฟื้น "กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความเห็นโบรกเกอร์หลายสำนัก แม้จะเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นมีปัจจัยบวกเยอะที่จะทำให้ปรับขึ้นแตะระดับ 1,700 จุดในปีหน้า ทว่าก็ยังมีบางประเด็นที่น่าจับตา นั่นก็คือการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และเศรษฐกิจยุโรปที่ไร้ทีท่าฟื้นตัว นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2558 น่าจะปรับขึ้นแตะระดับ 1,700-1,750 จุด โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ส่งผลให้มีการลงทุนเกิดขึ้น และยังเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตขึ้น ประกอบกับมีนโยบายอื่นๆ ที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลไปถึงการจับจ่ายของภาคครัวเรือนให้กลับมาดีขึ้น หลังจากที่ปีนี้การจับจ่ายภาคครัวเรือนลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้า คาดว่าจะเติบโต 12-15% เนื่องจากในปีนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอไปแล้วนั้นจะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจน โดยกลุ่มที่จะได้รับผลดีจากบีโอไอ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจอาหาร ทั้งนี้ ประเมินว่ากระแสเงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออก แต่เชื่อว่าหากมีการลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นจริง จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาได้ ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ประกอบกับขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ซึ่งมีการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น มองว่าประเทศไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการอัดฉีดเงินของญี่ปุ่นเช่นกัน สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า นอกจากนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปที่ยังไม่ดีและยังไม่มีทีท่าฟื้นตัวขึ้น นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างของรัฐบาล เช่น CK (ช.การช่าง) และ ITD (อิตาเลียนไทย) หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน เช่น BCP ที่เห็นได้ชัดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่น และหุ้นกลุ่มสื่อสารที่มีการจ่ายปันผลดีสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง เหมาะแก่การลงทุนระยะยาว INTUCH และ ADVANC "การลงทุนในปีนี้แนะนำนักลงทุนเข้าลงทุนในช่วงกลางเดือน พ.ย. เพราะตามสถิติย้อนหลัง เดือนนี้จะเป็นเดือนที่ตลาดปรับตัวลดลง ถือเป็นโอกาสในการซื้อสะสมเพื่อรอจังหวะขายทำกำไร ประกอบกับช่วงเดือน ธ.ค. เป็นเดือนที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากแรงซื้อของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือแอลทีเอฟ" นายเผดิมภพ ระบุ ส่วนแนวโน้มดัชนีในปี 2558 นั้น เขาบอกว่ามีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 1,720 จุด โดยจะมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนและดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหากภาครัฐมีการออกนโยบายเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และทำให้กำลังซื้อกลับมาดีขึ้น ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนน่าจะมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 16% เนื่องจากมองเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่จะช่วยผลักดันการเติบของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่ยังต้องจับตา คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในช่วงกลางปี 2558 ทำให้กระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลออก แต่ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ บีโอเจ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจช่วยให้กระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาบ้าง ประกอบกับนักลงทุนยังจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี ว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาหรือไม่ แม้เศรษฐกิจยุโรปจะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเท่าสหรัฐ แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่น่าจับตา นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในปีหน้ามีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ 1,700-1,750 จุดได้ แต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยจะต้องเผชิญกับการที่สหรัฐจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตอนนั้นจะค่อนข้างหน้าห่วง สำหรับหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนระยะสั้น แนะนำลงทุนในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดี ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ได้แก่ AP และ SYNTEC ขณะที่นักลงทุนระยะยาวแนะนำให้ถือเงินสดเพื่อรอดูสถานการณ์ช่วงปลายไตรมาสแรก ปี 2558 ก่อน Tags : โบรกฯ • เศรษฐกิจไทย • ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • กรุงเทพธุรกิจ