เว็บไซต์ SlashGear มีโอกาสได้คุยกับตัวแทนของ LG ถึงแนวทางการออกแบบ LG G3 ที่เปิดตัวเมื่อคืนนี้ ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้ครับ เริ่มจากฮาร์ดแวร์ภายนอก LG หาแรงบันดาลใจมาจากสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไอที เช่น เครื่องชงกาแฟ Nespresso, พัดลม Dyson หรือ ระบบการขับขี่อัตโนมัติของ Mercedes Benz รุ่นสูงๆ LG มองว่าหน้าจอขนาด 5.5" คือขนาดที่เหมาะสม (sweet spot) ของมือถือในปีนี้ บริษัทเลือกใช้จอความละเอียดสูงถึง 538 ppi เพราะต้องการเทียบมันกับความละเอียดของนิตยสารจริงๆ ที่ละเอียดประมาณ 440 ppi (ถ้าเป็นหนังสือภาพจะละเอียด 540 ppi) รูปทรงของเครื่องที่เรียกว่า floating arc ออกแบบมาให้เหมาะสมกับการถือบนฝ่ามือ ซึ่ง LG มีต้นแบบมากกว่า 100 ตัวที่รูปทรงแตกต่างกันไปเพื่อทดสอบกับลูกค้าในหลายๆ ประเทศว่า ทรงแบบไหนเหมาะที่สุด เรื่องวัสดุภายนอก บริษัทไม่ใช้โลหะด้วยเหตุผลเรื่องน้ำหนักและการชาร์จไฟไร้สาย จึงใช้วัสดุอื่นทำเลียนแบบโลหะที่ทนทานต่อรอยขูดขีดแทน ระบบเสียงมีทั้งลำโพงกำลังขับ 1 วัตต์, Boost AMP, Adaptive Sound Maximizer เพื่อให้เสียงดังและมีคุณภาพสูง กล้อง ฟีเจอร์เด่นอย่างการใช้เลเซอร์เพื่อโฟกัส เป็นเทคโนโลยีที่นำมาจากหุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นใช้เลเซอร์สแกนวัตถุรอบตัว LG เห็นว่านำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับกล้องได้ แต่ปรับให้เลเซอร์ที่ยิงออกมาเป็นใบพัดที่กว้างออกแทน บริษัทบอกว่าเลเซอร์นี้จะช่วยได้เยอะเวลาถ่ายในสภาพแสงน้อย และสามารถล็อคโฟกัสได้ในเวลาเพียง 276ms (ไม่ใช่เวลาทั้งหมดที่ใช้ถ่ายภาพ) มีฟีเจอร์ใช้แสงจากจอภาพช่วยส่องเวลาถ่ายด้วยกล้องหน้า แทนการใส่แฟลชมาเต็มตัวแบบ HTC One M8, มีฟีเจอร์ดักจับความเคลื่อนไหวของมือเพื่อให้ถ่ายภาพ selfie ได้ง่ายๆ แทนการตั้งเวลาถ่ายภาพ ซอฟต์แวร์ UI ปรับปรุงใหม่ให้เรียบง่าย กราฟิกดูแบน ฟอนต์คมชัดขึ้น และใช้ไอคอนแบบกลมที่ดูสม่ำเสมอทั่วทุกที่ ฟีเจอร์การแจ้งเตือน Smart Notice พยายามทำตัวคล้าย Google Now คือแสดงข้อมูลที่ผู้ใช้อาจคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าต้องการข้อมูลนี้ เช่น เตือนให้โทรกลับเวลาพลาดสาย เตือนให้เพิ่มรายชื่อคนโทรเข้ามาบ่อยๆ ลงสมุดที่อยู่ แจ้งเตือนวันเกิด เตือนให้พกร่มถ้าฝนตก โดยใช้ข้อมูลบริบทหลายๆ อย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพิกัด เวลา เหตุการณ์ คีย์บอร์ดแบบใหม่จะพยายามซ่อนตัวเองจากการแสดงผลให้มากที่สุด และใช้เทคนิคคล้ายคีย์บอร์ดของ Windows Phone คือจะแสดงปุ่มบนจอขนาดเท่าเดิมตลอด แต่จะขยายพื้นที่ของปุ่มที่ใช้บ่อยๆ ที่โปรแกรมมองเห็นให้กว้างขึ้น เพื่อลดโอกาสพิมพ์ผิดลง ฟีเจอร์เคาะหน้าจอเพื่อปลุก (Knock On) และเคาะหน้าจอตามจุดต่างๆ เพื่อปลดล็อค (Knock Code) ยังมีมาให้ใน G3 เช่นเดียวกับมือถือ LG รุ่นหลังๆ สำหรับคนที่นึกภาพฟีเจอร์บางอย่างไม่ออก แนะนำให้ดูวิดีโฆษณาอีกรอบนะครับ ที่มา - SlashGear LG G3, LG, Mobile