'อีซีบี'เตรียมกระตุ้นศก.เพิ่ม

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 8 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "อีซีบี"ประกาศพร้อมใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หวังพลิกฟื้นการเติบโต-ป้องกันเงินฝืด


    ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 0.05% ในการประชุมกำหนดนโยบายประจำเดือนพ.ย. แต่นายมาริโอ ดรากี ผู้ว่าการอีซีบี กล่าวว่า พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น โดยในอนาคตอีซีบีจะจับตาและประเมินความเหมาะสมของนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

    นายดรากีแถลงว่าความเสี่ยงสำหรับการฟื้นตัวของยูโรโซนยังมีอยู่ ดังนั้นอีซีบีจึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการเพิ่มเติมไว้อย่างทันท่วงที และพร้อมนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็น

    "หากจำเป็นต้องรับมือกับความเสี่ยงของการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป อีซีบีก็พร้อมจะใช้เครื่องมือเพิ่มเติม" นายดรากีระบุ

    รายงานข่าวระบุว่าในบรรดามาตรการเพิ่มเติมที่กำลังมีการพิจารณานั้น รวมถึงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในจำนวนมาก อันเป็นนโยบายที่ธนาคารกลางประเทศอื่นกระทำอยู่

    นายคริสเตียน ชูลซ์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเบเรนเบิร์ก กล่าวว่าคำพูดของนายดรากีสะท้อนถึงความพร้อมในการลงมือ ด้านนายโจเอิร์ก เครเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งคอมเมอร์แบงก์ คาดว่าอีซีบีจะเริ่มดำเนินมาตรการคิวอี อาจจะเป็นต้นปีหน้า

    นายโฮเวิร์ด อาร์เชอร์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งไอเอชเอสโกลบอลอินไซต์ คาดว่า อีซีบีจะรอเวลาสักระยะหนึ่งให้มาตรการที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ส่งผลเสียก่อน จึงค่อยเคลื่อนไหวเพิ่มเติม

    "เราคาดว่ามีความลังเลในหมู่ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบี ที่จะดำเนินมาตรการคิวอีเต็มรูปแบบ จากทิศทางการฟื้นตัวไม่ได้ดำเนินไปอย่างยั่งยืนหรือชัดเจน อีซีบีต้องใช้คิวอีในที่สุด" นายอาร์เชอร์ระบุ

    หวั่นมาตรการไม่เพียงพอ

    ทั้งนี้ อีซีบีได้เริ่มอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนและเสนอเงินกู้ระยะยาวเป็นเวลา 4 ปีแก่ธนาคารต่างๆ แต่หลายฝ่ายไม่แน่ใจว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่ แต่คาดว่าอีซีบีจะรอจนกว่าเห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากมาตรการเหล่านี้ก่อน จึงจะเคลื่อนไหวเพิ่มเติม

    แหล่งข่าวเผยว่า แผนการเข้าซื้อสินทรัพย์เอกชนของอีซีบีอาจไม่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ และน่าจะมีแรงกดดันมากขึ้นให้ดำเนินมาตรการที่รุกกร้าวกว่านี้ในช่วงต้นปีหน้า โดยอาจมีการเคลื่อนไหวเข้าไปตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนก่อน ส่วนมาตรการรุกกร้าวกว่านั้นอย่างการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ยังเผชิญอุปสรรคทางการเมืองอย่างหนัก โดยเฉพาะจากเยอรมนี

    นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกล่าวว่าต้องรอดูการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธ.ค.ซึ่งอีซีบีจะเปิดเผยคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุด โดยนายโฮลเกอร์ ชไมดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งเบเรนเบิร์ก กล่าวว่าอีซีบีมีแนวโน้มจะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเงินเฟ้อลงอย่างมากในการประชุมเดือนธ.ค. อันน่าจะเป็นเหตุผลอย่างดีในการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม

    "โออีซีดี"ร้องกระตุ้นเพิ่ม

    องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เรียกร้องให้อีซีบีเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยโออีซีดีระบุว่าพิจารณาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างมากและความเสี่ยงของการเกิดเงินฝืดแล้ว อีซีบีควรเพิ่มมาตรการสนับสนุนทางการเงินให้มากกว่ามาตรการที่ใช้อยู่

    "อีซีบีควรดำเนินมาตรการคิวอีจนกว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น" โออีซีดีระบุ พร้อมเสริมว่าสินทรัพย์ที่อีซีบีเข้าซื้ออาจรวมถึงพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งนับถึงขณะนี้อีซีบียังไม่ได้เข้าซื้อเพราะความละเอียดอ่อนทางการเมืองในยุโรปเกี่ยวกับการที่อีซีบีจะเข้าไปอันเดอร์ไรท์การใช้จ่ายของรัฐบาลต่างๆ

    ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนต.ค.ของยูโรโซนอยู่ที่ 0.4% ซึ่งต่ำมากจากเป้าหมายของอีซีบีที่ระดับไม่ถึง 2% ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดเงินฝืด

    นางแคเธอรีน แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี กล่าวว่าในภาพรวมแล้วยูโรโซนกำลังชะงักงันและเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของโลก โดยโออีซีดีได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 3.3% และปีหน้าคาดว่าจะโต 3.7% พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 0.8% ปีนี้ และ 1.1% ปีหน้า

    ทั้งนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐยุติการเข้าซื้อพันธบัตร ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่มวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรดานักลงทุนในตลาดจึงพยายามจับตาดูการเคลื่อนไหวของอีซีบีว่าจะดำเนินมาตรการที่รุกกร้าวมากกว่านี้หรือไม่ อย่างการพิมพ์เงินเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก

    หวั่นบาทอ่อนค่าหลุด33

    การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวานนี้ (7 พ.ย.) เปิดตลาดที่ระดับ 32.86-32.88 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาครวมถึงค่าเงินยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

    ส่งผลให้ค่าเงินบาทวานนี้ ปรับตัวอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. ก่อนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงบ่าย โดยปิดตลาดที่ระดับ 32.80-32.85 บาทต่อดอลลาร์

    ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ยังมีทิศทางอ่อนค่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า ต้องจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ หากปรับตัวดีขึ้นหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้อีก สัปดาห์หน้าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวในกรอบ 32.75-33.15 บาทต่อดอลลาร์

    ย้ำไม่พบทุนไหลออกผิดปกติ

    นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการอ่อนค่าตามเงินเยน หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงในวานนี้ (7พ.ย.) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินยูโรที่อ่อนค่าลงด้วย

    สำหรับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ไม่พบปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ โดยการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ถือเป็นการอ่อนค่าตามค่าเงินในภูมิภาคและอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เช่นเดียวกับคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐ

    ส่วนความเห็นที่มีต่อถ้อยแถลงของอีซีบีที่ประกาศว่า พร้อมดำเนินมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมหากพบสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ต่ำนานเกินไปนั้น เรื่องนี้ ธปท. ขอไปดูในรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน

    อีซีบีแค่ส่งสัญญาณแข็งกร้าว

    นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้อยแถลงของอีซีบีที่ออกมา ถือเป็นการทำคิวอีโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะมีผลทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยอีซีบีประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่า หากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ชัดเจน และมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด อีซีบี พร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม

    "สาเหตุที่ อีซีบี ยังไม่ดำเนินมาตรการใดๆ ทำได้แค่เพียงการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเยอรมนี ไม่ต้องการให้ทำคิวอีเพิ่มด้วย ดังนั้นอีซีบีจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินมาตรการนี้ออกมา" นายพิพัฒน์กล่าว

    หวั่นศก.ไทยไม่เป็นวีเชฟตามคาด

    สาเหตุที่เยอรมนีไม่ต้องการให้อีซีบีทำคิวอีเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยอรมนี มีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักกับเรื่องเงินเฟ้อ เพราะในอดีตเยอรมนีเคยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ประกอบกับเยอรมนี ไม่เชื่อว่าการอัดฉีดเงิน จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจพลิกฟื้นได้อย่างยั่งยืน เพราะปัญหาที่กลุ่มประเทศยุโรปเผชิญในขณะนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

    สำหรับผลกระทบต่อเงินบาทนั้น หลังจากที่อีซีบีมีถ้อยแถลงออกมาก็ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าตามไปด้วย

    "ถ้าดูภาวะตอนนี้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มดีขึ้น เงินดอลลาร์มีทิศทางการแข็งค่า และดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้นได้ในระยะข้างหน้า ส่วนของไทย เศรษฐกิจแม้ฟื้นตัวได้แต่ช้ากว่าที่คาด และอาจจะไม่ได้เป็นวีเชฟอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้ โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสที่จะโตต่ำกว่า 1.5% และปีหน้าก็มีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 4% ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ก็ทำให้เงินบาทมีทิศทางที่จะอ่อนค่าลงได้เช่นกัน" นายพิพัฒน์กล่าว

    Tags : ธนาคารกลางยุโรป • อีซีบี • ธปท. • ค่าเงินบาท • เยน • ยูโร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้