เมืองไทยประกันชีวิต เล็งขยายในเออีซี รับอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจในอาเซียนตอนล่าง ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เมืองไทยประกันชีวิต เล็งขยายในเออีซี รับอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจในอาเซียนตอนล่าง ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ชี้แนวทางร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น หวังอาศัยเครือข่ายในท้องถิ่น ส่วนธุรกิจในประเทศยังเติบโตต่อได้ในปี 58 แต่รับยังมีผลกระทบจากการชำระคืนเบี้ยและเบี้ยประกันแบบสั้นที่ทำให้ยอดเบี้ยลดลงเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดผลกระทบยังเห็นไปอีก 2 ปี เร่งปั๊มยอดใหม่ทดแทน บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เป็นอีกหนึ่งบริษัทประกันชีวิตชั้นนำของไทย ที่อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการออกไปทำธุรกิจในอาเซียนทั้งตอนบนและตอนล่าง เพื่อรับโอกาสจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีลูกค้าต่างชาติเข้ามาซื้อประกันในเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญและเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล "การออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ บริษัทจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจเข้าไป แต่จะอาศัยเครือข่ายของธุรกิจท้องถิ่น ในการทำตลาดในแต่ละประเทศ"นายสาระ กล่าว นายสาระ กล่าวต่อว่า ดังนั้นรูปแบบการเข้าไปลงทุนที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ คือ การเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ที่จะมีการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ และไม่ต้องห่วงเรื่องของแบรนด์เมืองไทยว่า จะเข้าตลาดประเทศอื่นได้ยาก ในส่วนของสัดส่วนการถือหุ้นจะเป็นเท่าไร ต้องพิจารณาอีกครั้ง "ที่ผ่านมาเรามองอาเซียนตอนบนทั้ง กัมพูชา พม่า ลาวและเวียดนาม ซึ่งมีประชากรกว่า 300 ล้านคน หากรวมอาเซียนตอนล่างก็จะเป็น 600 ล้านคน แต่เมืองไทยประกันชีวิต คงไม่เข้าไปในตลาดสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เพราะตลาดเต็มไปแล้ว แต่จะเข้าไปในตลาดอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพราะเป็นตลาดใหญ่ ที่ต้องศึกษา โดยบริษัทมีโนฮาวอยู่แล้ว แต่ไม่มีเครือข่าย ทั้งการให้บริการลูกค้า รวมถึงการดีลกับผู้กำกับ ดังนั้นการเข้าไปด้วยรูปแบบของบริษัทร่วมทุน จะเหมาะสมที่สุด" นายสาระ กล่าว นายสาระ ยังกล่าวในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทยว่า สำหรับภาพรวมการทำธุรกิจในประเทศไทย ยังมีแนวโน้มดี โดยในปี 2558 บริษัทคาดธุรกิจประกันยังเติบโตได้อยู่ ซึ่งช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เบี้ยรับรวมของอุตสาหกรรมประกันชีวิตยังคงเติบโตได้ 15% หรืออยู่ที่ 373,687 ล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่สมาคมคาดไว้ที่ 12-14% แต่ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่เติบโตได้ 16% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเบี้ยที่ครบกำหนดมีจำนวนมาก ขณะที่แนวโน้มการขายเบี้ยประกันในช่วงที่ผ่านมาเป็นเบี้ยแบบระยะสั้นมากขึ้นแม้การเติบโตจะยังมีมาก แต่ผลจากเบี้ยที่ครบกำหนดมีมากกว่า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับเบี้ยประกันของภาพรวมธุรกิจไปอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเสนอขายเบี้ยระยะสั้นในอนาคต ผู้ประกอบการหลายๆ ราย คงต้องพิจารณาให้ดี เพราะมีผลต่อการลงทุนของบริษัทที่จะต้องจัดสรรให้สอดคล้องกับอายุของเบี้ยประกันด้วย "ในแต่ละปีจะมีเบี้ยที่ครบกำหนดอยู่แล้ว เพราะบริษัทประกันส่วนใหญ่มีอายุมายาวนาน แต่แนวโน้มใหม่ที่เข้ามาในช่วง 2-3 ปีมานี้ คือ เบี้ยประกันแบบระยะสั้นที่มีมากขึ้น ทำให้เบี้ยที่ครบกำหนดมีมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังมีต่อไป แต่ยังดีที่อัตราการต่ออายุของระบบยังอยู่ในระดับสูงถึง 86% ทำให้ภาพรวมการเติบโตยังสูงอยู่ได้ที่ 15%" นายสาระ กล่าว ในส่วนของเมืองไทยประกันชีวิตในช่วง 9 เดือนแรกของปีมีเบี้ยรวมเติบโต 27% หรือ 5.74 หมื่นล้านบาท สูงกว่าอุตสาหกรรมที่ 15% นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับโครงสร้างการบริหารงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปรับการบริหารให้เป็นแนวราบมากขึ้นจากเดิมที่เป็นบนลงล่าง และผลักดันให้เจนวายเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น Tags : เมืองไทยประกันชีวิต • เบี้ยประกัน • ตลาดสิงคโปร์ • เออีซี • อาเซียน • ฟิลิปปินส์