เหตุการณ์โรค COVID-19 น่าจะทำให้องค์กรจำนวนมากต้องปรับตัวอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านกันเป็นวงกว้าง บริษัทที่ให้บริการเครื่องมือออนไลน์จำนวนมากก็พากันออกโปรโมชั่นพิเศษเพื่อให้เข้าถึงเครื่องมือได้ง่ายขึ้น เช่น Office 365, Google Hangout Meet, Zoom, หรือ WebEx แต่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง GitLab นั้น แชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกันระหว่างพนักงาน 1,200 คน ที่กระจายอยู่ 65 ประเทศทั่วโลก มาตั้งแต่ปี 2016 GitLab เป็นบริษัทที่ทำงานระยะไกลเต็มรูปแบบ (all-remote company) โดยระบุว่าการปรับบริษัทเป็นบริษัทที่ทำงานระยะไกลได้จะเป็นเรื่องยากในช่วงแรก แต่ในระยะยาวจะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานในสำนักงานเสียอีก จุดเสียสำคัญของการทำงานระยะไกล คือพนักงานไม่สามารถสื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นระยะได้ ตัว GitLab ออกแบบกระบวนการสื่อสารให้ไม่เป็นทางการอย่างจงใจ และให้เวลากับการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทำให้พนักงานด้วยกันสามารถคุยกันได้แม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานก็ตาม โดยรูปแบบมีหลากหลาย ทั้งการพบปะกันทั้งบริษัทเป็นระยะ หรือการออกค่าเดินทางให้พนักงานไปเจอหน้าเพื่อนร่วมงานในบริษัทปีละสองครั้ง ครั้งละ 150 ดอลลาร์ หรือหากไปร่วมงานสำคัญ เช่น งานแต่งงานก็เบิกได้ถึง 300 ดอลลาร์ แนวทางการทำงานระยะไกลทำให้บริษัทต้องทำเอกสารทั้งหมดให้ชัดเจน คู่มือพนักงานของ GitLab นั้นเข้าดูจากเว็บได้โดยไม่ต้องล็อกอิน, แต่ละทีมจะมี OKR ของตัวเองที่ชัดเจน และคนอื่นมองเห็นได้ทั้งบริษัท, การประชุมแต่ละครั้งแทนที่จะเขียนลงกระดานก็เป็นการแก้เอกสารลงบน Google Doc ทั้งหมด การสื่อสารเป็นแบบ asynchornous แปลว่าคนที่มาเห็นการประชุมภายหลังก็สามารถติดตามได้ว่ามีการพูดคุยอะไรบ้าง ข้อมูลส่วนส่วนมากของ GitLab เปิดเผยให้กว้างกว่าที่จำเป็น เป็นแนวทางตรงข้ามกับแนวทางรู้เท่าที่ต้องรู้ (need-to-know) เช่น แนวทางการคำนวณค่าจ้างนั้นก็มีเอกสารบอกไว้ชัดเจน ให้สาธารณะรับรู้ อย่างไรก็ดี การทำงานระยะไกลนั้นมีอุปสรรคที่ควรระวัง โดยเฉพาะกับพนักงานที่เริ่มต้นงานใหม่ จะไม่มีพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลเหมือนในสำนักงาน และพนักงานที่ไม่เคยทำงานที่บ้านอาจจะรู้สึกเหงา ยิ่งการทำงานคนละประเทศอาจจะทำให้การประชุมคนละช่วงเวลากินเวลาส่วนตัวพนักงานบางคนไป สำหรับบริษัทเองแล้ว ยังต้องระวังว่ากระบวนการของบริษัทจะไปขัดกับกฎหมายแรงงานในประเทศต่างๆ ที่พนักงานอยู่ บริษัทเทคโนโลยีอีกบริษัทที่พนักงานกระจายกันไปทั่วโลก คือ Automattic ผู้พัฒนา Wordpress ที่มา - GitLab Topics: GitLab