'บวรศักดิ์' เผย วางกรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญแล้ว ยันรับฟังความเห็นประชาชนไม่ซ้ำซ้อน สปช. คาดทูลเกล้าฯ 4 ก.ย.58 ขณะที่ ''วิษณุ'' ปัด ร่างรธน.ไว้ล่วงหน้า ห่วงกลุ่มต้าน โต้กีดขวางบางกลุ่ม ยัน พร้อมรับฟังประชาชน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวถึงผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ที่การประชุมมีฉันทามติในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การแบ่งงานกันทำในฐานะต่าง ๆ โดยมีการแต่งตั้งรองประธานกรรมาธิการ จำนวน 6 คน ที่ใช้วัยวุฒิเป็นเกณฑ์ในการเรียงลำดับรองประธานคนที่ 1 ถึงคนที่ 6 แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ จำนวน 3 คน ทีมโฆษก จำนวน 5 คน และทีมเลขานุการ จำนวน 2 คน รวมถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการจะแยกเป็น 2 ส่วน โดยตั้งอนุกรรมาธิการ 2 ชุด ได้แก่ อนุกรรมาธิการว่าด้วยกระบวนการทำงาน และอนุกรรมาธิการด้านสารัตถะหรือเนื้อหา นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการวางกรอบและโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่า จะมีกี่มาตรา และจะมีส่วนที่เหมือน หรือคล้ายกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือ ปี 2550 ทั้งนี้ วันที่ 19 ธันวาคม 2557 สปช. ต้องส่งความเห็นให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งเป็นไปตามกรอบ 60 วัน และจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายใน 17 เมษายน 2558 ซึ่งจะครบกำหนดตามกรอบ 120 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด สำหรับกรอบปฏิทินการทำงานของกรรมาธิการ วันที่ 6 สิงหาคม 2558 เป็นวันสุดท้าย ที่ สปช. จะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และวันที่ 4 กันยายน 2558 เป็นวันสุดท้าย ที่ประธาน สปช. จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม อย่างไรก็ตาม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะไม่ซ้ำซ้อนกับ สปช. วิษณุปัดร่างรธน.ไว้ก่อน โต้กีดกันบางกลุ่มยันฟังปชช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เปิดเผยถึงกรณีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ว่า การแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว เพราะ คสช. ปรารถนาให้ผลของการร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด และเป็นความรับผิดชอบของ คสช. โดยกระบวนการร่างต้องทำให้เสร็จใน 120 วัน ซึ่งในช่วงเวลานี้จะมีการเสนอเเนะความคิดเห็นไปยัง กรรมาธิการฯ ว่า อยากได้ข้อมูลและความร่วมมือใดๆ โดยหากกรรมาธิการฯยกร่างเสร็จ ก็จะต้องมาถาม ครม. และ คสช. บางเรื่อง เพื่อแก้ไขและติดตามไปพร้อมกัน จึงจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการติดตามการร่าง โดยในที่ประชุมร่วม ครม. - คสช. ได้มอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ไปศึกษาและออกแบบมา ทั้งนี้ ไม่ห่วงว่าจะมีกระแสต่อต้านในการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณ ทั้งนี้ นายวิษณุ เชื่อว่า ไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในสายตาของประชาชนและสื่อมวลชน ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการร่างเพื่อป้องกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย นั้น การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ ซึ่งองค์ประกอบกรรมาธิการฯ ดี สถานการณ์ในประเทศดี เชื่อว่าทุกคนต้องการปฏิรูป นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรอบเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ระยะเวลาเบื้องต้นจะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2558 ส่วนการเลือกตั้ง ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพราะยังไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบใด ทั้งนี้ คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณต้นปี 2559 ขณะเดียวกัน ในวันนี้ ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปไหว้ศาลหลักเมือง เชื่อว่า เป็นเพราะทุกคนมีความตั้งใจดี ในการทำงานให้บ้านเมือง และขอให้สื่อมวลชนคอยตรวจสอบและติดตามดูไป ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีส่วนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแน่นอน อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เชื่อมั่นว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนดี มีความรู้และความตั้งใจ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::: บวรศักดิ์ยันร่างรธน.ไม่อคติลดแตกแยก-ลุยถกวางกรอบ http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=577014