ตลาดหลักทรัพย์เผยสถิติหุ้นร้อนยังพุ่งต่อเนื่อง บจ.ชี้แจงข้อมูลทะลุ 163 ครั้ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกำกับตลาดและดูแลสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติและตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจงข้อมูลที่อาจมีผลกระทบกับพื้นฐานของบริษัท (Trading Alert) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นทิศทางเดียวกับหุ้นที่ถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสด (Cash Balance) โดยเป็นผลมาจากหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเก็งกำไรสูงขึ้น "เราเห็นทิศทางของหุ้นที่ติดเทรดดิ้งอะเลิร์ทและหุ้นแคชบาลานซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก และในตลาดเอ็มเอไอมากกว่าปกติ จากภาวะตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มดีนักลงทุนเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น" ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีหุ้นที่ถูกเทรดดิ้งอะเลิรท์แล้ว 98 ครั้ง สูงที่สุดตั้งแต่ใช้มาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นทิศทางเดียวกับหุ้นที่ติดหลักเกณฑ์แคชบาลานซ์จนถึงช่วงสิ้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 163 ครั้งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่าปีก่อนทั้งปีที่ 184 ครั้ง โดยปัจจุบันมีหลักทรัพย์ที่ถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสดมากกว่า 50 หลักทรัพย์ ทั้งนี้ตลาดมองว่ากฎเกณฑ์ที่ตลาดดูแลหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับเดียวกันไม่ได้เข้มงวดน้อยกว่าหรือมากกว่า ทั้งในเกณฑ์แคชบาลานซ์มีลักษณะการดำเนินการรูปแบบคล้ายคลึงกันอาจต่างกันบ้างในรายละเอียด อย่างหุ้นแคชบาลานซ์ ในบางประเทศให้โบรกเกอร์เป็นผู้พิจารณาเองว่าจะให้ซื้อขายด้วยเงินสดหรือไม่ ส่วนในตลาดหุ้นไทยตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้กำหนด ซึ่งการใช้กฎเกณฑ์เช่นนี้มักจะใช้ในตลาดหุ้นที่กำลังพัฒนา จะไม่พบการใช้ในตลาดหุ้นที่นักลงทุนมีศักยภาพสูง อย่างตลาดหุ้นสหรัฐหรือในทวีปยุโรปจะไม่มีการกำหนดเกณฑ์แคชบาลานซ์ "กฎเกณฑ์ตรวจสอบความผิดปกติ ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบหุ้นผิดปกติให้เข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มหุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์มีจำนวนมากขึ้น สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์กังวลคือหากยังเป็นสภาพเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ นักลงทุนจะมองความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ และอาจสร้างความเสียหายกับนักลงทุนในอนาคตได้ โดยความคืบหน้าของการหาหลักเกณฑ์ในการควบคุมหุ้นที่ร้อนแรง ตลท.ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งวัตถุประสงค์ในการหามาตรการมาเพิ่มเติมนั้น ต้องเป็นมาตรการที่นักลงทุนต้องดูแลตนเองด้วย" อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบหุ้นที่มีความผิดปกตินั้นตลาดหลักทรัพย์ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในการตรวจสอบการกระทำผิดต่อเนื่องโดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนตุลาคมมีกรณีการเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดแล้ว 9 คดีแบ่งเป็นการใช้ข้อมูลภายใน 4 คดี มีการปรับเงินรวมกันอยู่ที่ 55.05 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่มีจำนวนคดี 3 คดีและมีการปรับเงิน 30.43 ล้านบาท โดยข้อสังเกตนั้นพบว่าจำนวนผู้ที่มีส่วนร่วมการทำความผิดในการสร้างราคามีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากขึ้น และมีความซับซ้อนมากขึ้น Tags : สุภกิจ จิระประดิษฐกุล • ตลาดหลักทรัพย์ • หุ้นแคชบาลานซ์