เอสเอ็มอีแบงก์ ดึงทุนเอกชน ร่วมตั้งเวนเจอร์แคปิตอลฟันด์ เผยทุนใหญ่หลายรายสนใจลงทุนกิจการเอสเอ็มอี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ จะเปิดโครงการกองทุนร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์แคปิตอลฟันด์ ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เพื่อร่วมลงทุนในกิจการขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ยังขาดแหล่งเงินทุน โดยเอสเอ็มอีแบงก์ได้ขออนุมัติวงเงินจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ไว้ไม่เกิน 100 ล้านบาท นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนเอกชนจำนวนมาก โดยเฉพาะไพรเวทฟันด์ สนใจจะร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี เพราะมีเงินทุนสูง จึงต้องการหาสินทรัพย์ลงทุน "แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการน้อย จึงสนใจจะมาร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์ โดยให้ธนาคารเป็นผู้เลือกลูกค้าให้ แล้วนักลงทุนจะเป็นผู้ใส่เงิน ส่วนใหญ่นักลงทุนจะสนใจกิจการทางด้านนวัตกรรม" นางสาลินี กล่าว สำหรับหลักการร่วมลงทุนนั้น เอสเอ็มอีแบงก์จะใส่เงินลงทุนต่อกิจการได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่บางกิจการอาจจะไม่ต้องใช้เงินของธนาคารร่วมลงทุนเลย หากนักลงทุนภาคเอกชนเห็นว่าเป็นกิจการที่มีศักยภาพ ก็อาจจะใส่เงินลงทุนเข้าไปเองทั้งหมด หลังจากใส่เงินร่วมลงทุนไปแล้ว จะมีการว่าจ้างภาคเอกชนที่มีความรู้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารกิจการ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ เบื้องต้นในวันเปิดตัวโครงการนี้จะมีการคัดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและต้องการแหล่งเงินลงทุนพร้อมที่ให้ร่วมลงทุนได้เลยอย่างน้อย 8-9 แห่ง "เวนเจอร์แคปิตอล จะช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ เพราะนอกจากจะมีแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการแล้ว ยังจะมีพี่เลี้ยงคอยช่วยให้ความรู้ในด้านต่างๆ ทำให้เอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังก็มีแนวคิดจะทำเรื่องนี้เช่นเดียวกัน แต่ทำในวงเงินที่สูงกว่า โดยเอสเอ็มอีแบงก์คงไม่ได้เข้าไปร่วมกับคลัง เพราะเราเน้นกิจการขนาดเล็ก" นางสาลินี กล่าวต่อว่า สำหรับการสรรหากรรมการผู้จัดการธนาคารนั้น ขณะนี้ได้ปิดการรับสมัครแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ทราบมาว่ามีผู้มาสมัครเพิ่มเติมหลายราย ขั้นตอนหลังจากนี้ทางคณะกรรมการสรรหาคงจะมีการนัดสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งหมด โดยกระบวนการต่างๆ ทางบอร์ดสรรหาคงดำเนินการอย่างรอบคอบ และรัดกุม "การสรรหาเอ็มดีธนาคารมีกระบวนการของมันอยู่ แม้บอร์ดจะอยากให้การสรรหาแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ได้เร่ง เพราะต้องการให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และรัดกุม ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และเงื่อนเวลาที่กำหนดว่าจะต้องมีการสรรหาเอ็มดีคนใหม่ให้ได้ภายใน 1 ปี นับจากตำแหน่งนี้ว่างลง ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ก.พ.ปี 2558 นี้" นางสาลินีกล่าว ทั้งนี้เอสเอ็มอีแบงก์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะกิจการของธนาคาร (ดีลดิลิเจนท์) เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดภายในวันที่ 30 พ.ย. นี้ พร้อมกับทำแผนฟื้นฟูกิจการฉบับสมบูรณ์ส่งไปด้วย โดยก่อนหน้านี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้เสนอแผนฟื้นฟูต่อซูเปอร์บอร์ดไปแล้ว 3 ฉบับ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ส.ค. เป็นแผนหลัก และได้มีการปรับใหม่ เพิ่มเติมรายละเอียดอีก 2 ครั้ง ตามคำถามและข้อสังเกตของสคร. ที่ให้มีแนวทางในการป้องกันปัญหา ไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคตควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาด้วย ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 เอสเอ็มอีแบงก์มีกำไรสุทธิ 157 ล้านบาท จากในช่วงครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท หากนับในงวด 9 เดือน ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองที่ 1.09 พันล้านบาท เมื่อหักสำรองแล้ว ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 116 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวม ลดลง 1.05 พันล้านบาท จากช่วงสิ้นเดือนมิ.ย. Tags : เอสเอ็มอีแบงก์ • เอกชน • ลงทุน • สาลินี วังตาล