กกร.หวังส่งออกปีหน้า แรงขับเคลื่อนดันเศรษฐกิจโต

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 5 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กกร.ประเมินส่งออกปีนี้โตแค่ 0-0.5% จีดีพี 1-1.5% หวังส่งออกปีหน้า แรงขับเคลื่อนดันเศรษฐกิจขยายตัว

    จี้รัฐบาลแก้กฎระเบียบดึงต่างชาติตั้งสำนักงานในไทย ฐานการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน ค้านลงนาม สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ห่วงความมั่นคงของประเทศ ชี้ยังไม่มีความพร้อมต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว

    คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วย หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจปีนี้และแนวโน้มปีหน้า นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกกร. กล่าวหลังประชุมกกร.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจพบว่า เศรษฐกิจบางส่วนมีสัญญาณปรับดีขึ้น จากเดือนก่อนเล็กน้อย จากปัจจัยบวกของการบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐประมาณ 65% มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 50% แต่ภาครัฐควรจะเร่งอัดฉีดงบลงทุนให้มากกว่านี้ เพราะการลงทุนภาคเอกชนเองยังคงทรงตัว การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตยังมีปริมาณที่น้อย ส่วนการส่งออกเริ่มขยายตัว โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ยังติดลบ 3% แต่ยังต่ำกว่าช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาซึ่งติดลบ 7% เป็นการเติบโตที่เปราะบางยังต้องจับตาต่อเนื่อง

    ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 เป็นไปในลักษณะ"ค่อยเป็นค่อยไป" คาดว่าช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ การบริโภคของประชาชนน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น

    กกร.คาดส่งออกปีนี้โต0-0.5%

    นายอิสระ กล่าวว่าการส่งออกของไทยตลอดปี 2557 ไม่เพียงแต่จะประสบปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ แต่ยังเสียเปรียบคู่แข่งเกี่ยวกับค่าเงินด้วย โดยอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ 0.69%เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอ่อนตัวถึง 3% ทำให้ค่าเงินของไทยแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เสียเปรียบในการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกต้องลดราคาสินค้า เพื่อสู้กับประเทศคู่แข่ง

    อย่างไรก็ตาม กกร. คาดว่าการส่งออกทั้งปีนี้น่าจะเติบโตอยู่ที่ 0-0.5 % ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 1-1.5% อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร จึงทำให้ภาพรวมการส่งออกยังไม่ถึงกับติดลบ

    “จากนี้เอกชนควรพัฒนาการผลิตสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม หลังจากที่ผ่านมาสินค้าเกษตรเน้นส่งออกวัตถุดิบเป็นหลัก ทำให้ราคาค่อนข้างตกต่ำ แต่หากมีการพัฒนาสินค้า เช่น แปรรูปข้าว เป็นอาหารสำเร็จรูปจะสร้างมูลค่าส่งออกได้2-5 เท่าตัว ซึ่งเอกชนต้องหารือเพื่อเสนอรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุน แต่รัฐบาลควรออกมาตรการดูแลเอสเอ็มอี ปัจจุบันยังขาดสภาพคล่อง และต้องมีมาตรการดึงดูดให้เอสเอ็มอี เข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยให้กรมสรรพากร อบรมแนะนำให้เอสเอ็มอี รู้จักระบบบัญชี เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย” นายอิสระ กล่าว

    จี้รัฐดึงต่างชาติตั้งสำนักงานในไทย

    นอกจากนี้ กกร.ยังได้ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมให้ต่างชาติ เข้ามาลงทุนตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การปรับภาษีสนับสนุนอย่างเดียว แต่ควรปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สะดวกในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดเวลาและขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้ผู้บริหารต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยได้ง่าย

    ทั้งนี้ผู้บริหารต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยจะมี 3 รูปแบบ 1.การเข้ามาชั่วคราว 2-3 สัปดาห์ เพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ สามารถใช้วีซ่าธุรกิจได้ 2. การเข้ามาอยู่เป็นปี ปัจจุบันผู้บริหารต่างชาติต้องบินไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเข้ามาต่อวีซ่าทุกๆ 3 เดือน ควรจะปรับกฎเกณฑ์ให้ต่างชาติกลุ่มนี้ สามารถสำแดงที่อยู่ผ่านเว็บไซต์รายงานตัวกับกระทรวงต่างประเทศได้ และ 3.ผู้บริหารระดับสูงที่นำเงินเข้ามาลงทุนหลายพันล้านบาท และนำเทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศ ภาครัฐควรจะปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกทุกด้าน เพราะเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

    สอท.เชื่อส่งออกปีหน้าหัวจักรสำคัญ

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท. ) กล่าวว่าแม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะซบเซา แต่ก็มั่นใจว่า ปี2558 การส่งออกจะเป็นเครื่องจักรหลักในการเข้ามาดึงเศรษฐกิจ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ในระดับ 4% แต่หากค่าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การแพร่ระบายของเชื้ออีโบลา และความขัดแย้งในตะวันออกกลางขยายตัว จะทำให้ตัวเลขเป้าหมายลดลงได้

    ขณะที่แนวโน้มการลงทุนปีนี้ คาดว่ายอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นไปตามเป้าหมายที่ 7 แสนล้านบาท เพราะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง เร่งเข้ามาขอรับการส่งเสริมปีนี้ เพื่อใช้กรอบการส่งเสริมการลงทุนฉบับปัจจุบันซึ่งจะหมดอายุสิ้นปีนี้

    คาดต่างชาติทยอยลงทุนไทยรับเออีซี

    ส่วนปี 2558 คาดว่ายอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะสูงกว่าในปีนี้มีมูลค่าเกิน 8 แสนล้านบาทแน่นอน เนื่องจากนักลงทุนไทย และต่างประเทศ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นแรงดึงดูดให้มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย เพื่อรองรับตลาดอาเซียน จะทำให้การลงทุนในภูมิภาคต่างๆของไทยขยายตัวขึ้น

    “นักลงทุนต่างสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน และเพิ่มศักยภาพในการเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน” นายสุพันธุ์ กล่าว

    สำหรับแนวคิดการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของกกร.มองว่า วงเงินดังกล่าวจะเพียงพอในการสนับสนุนเอสเอ็มอี แต่อยากให้ภาครัฐกำหนดกรอบกติกา และ รายละเอียดการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เคยจัดตั้งกองทุนดังกล่าว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

    เอกชนค้านลงนามสัตยาบันไอแอลโอ

    นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.ได้หารือถึงการลงนามสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง หลังจากที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization:ILO) ขอให้ประเทศสมาชิก 183 ประเทศ ลงนามรับสัตยาบันอนุสัญญา จากการหารือ พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่เกือบ 100 % มีมติไม่เห็นด้วยกับการลงนาม

    โดยมองว่าขณะนี้ไทยยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก หากทำตามข้อตกลงนี้ ก็อาจกระทบต่อความมั่นคงของไทยได้ ขณะนี้มีหลายประเทศในอาเซียน และเกาหลีใต้ ก็ยังไม่ลงนามในสัตยาบันฯนี้

    Tags : กกร. • อนุสัญญา • อิสระ ว่องกุศลกิจ • ส่งออก • เศรษฐกิจ • สภาหอการค้า • จีดีพี • สุพันธุ์ มงคลสุธี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้