คลัง'ดัดหลัง'เลี่ยงภาษีมรดก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 5 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ดันออกกม.เก็บย้อนหลัง 2 ปี-เปิดช่องผู้รับมรดกผ่อนจ่าย2-3ปี ดึงรัฐ-เอกชน-นักวิชาการตั้งองค์กรปฏิรูปภาษี

    "สมหมาย" เตรียมชงภาษีมรดกเข้าครม. 11 พ.ย. นี้ เปิดช่องผู้รับมรดกผ่อนจ่าย 2-3 ปีหากไม่มีเงิน ดันกฎหมายเก็บภาษีย้อนหลัง 2 ปี ดัดหลังกลุ่มเลี่ยงภาษีโอนก่อนกฎหมายบังคับใช้ "สปช."ถกคลังเดือนนี้ ตั้งองค์กรปฏิรูปภาษี ดึงองค์กรรัฐ เอกชนและนักวิชาการเข้าร่วม ด้านที่ปรึกษากฎหมายรับกฎหมายภาษีไม่ทันเหตุการณ์ จี้แก้ไขโครงสร้างให้ผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมมากขึ้น

    กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอภาษีมรดกให้ครม.พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นคาดจะเรียกเก็บภาษีในอัตราคงที่ไม่เกิน 10% ของส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่หากผู้รับโอนมรดกไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระภาษี จะมีการผ่อนปรนให้ผู้รับมรดกสามารถทยอยเสียภาษีเป็นระยะเวลา 2-3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

    นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอภาษีมรดกเข้าที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาวันที่ 11 พ.ย.นี้ ซึ่งผู้ที่โอนมรดกก่อนกฎหมายบังคับใช้ 2 ปีและเจ้ามรดกยังไม่ได้เสียชีวิต ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผู้ที่ตั้งใจจะหลีกเลี่ยงภาษี

    กระบวนการต่อไป จะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่า จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 3 เดือน

    "ผู้ที่โอนมรดกก่อนกฎหมายบังคับใช้ 2 ปี มีสิทธิโดนเรียกเก็บด้วย หากผู้โอนไม่เสียชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี แต่รายละเอียดที่ชัดเจนคงต้องรอหลังการประชุมครม.เรียบร้อยแล้ว โดยส่วนตัวผมมองว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทย ต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนและพัฒนาประเทศ"นายสมหมาย กล่าว

    ภาษีมรดกไม่น่าจะมีผลย้อนหลัง

    ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องกฎหมายภาษีมรดกจะมีผลย้อนหลังไป 2 ปีนั้น ตามร่างกฎหมายภาษีมรดกที่เสนอไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่มีเงื่อนไขเรื่องนี้ เพราะโดยหลักการแล้ว กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษต่อประชาชน

    "เรื่องเก็บภาษีย้อนหลังก่อนกฎหมายใช้บังคับ 2 ปีจึงไม่น่าเป็นไปได้" แหล่งข่าวกล่าว

    ให้สรรพากรเก็บภาษีที่ดินแทนท้องถิ่น

    นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะนำมาใช้แทนที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ นั้นจะให้กรมสรรพากรเป็นองค์กรจัดเก็บแทนท้องถิ่นที่จัดเก็บอยู่เดิม เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

    "ร่างภาษีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้ คาดว่า จะเรียกเก็บในอัตราที่ไม่ต่างจากภาษีรถยนต์ แต่ตั้งเป้าว่าต้องเก็บให้ทั่วถึง หากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย จะช่วยให้ประเทศเก็บภาษีได้มากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ขณะนี้ยังมีที่ดินอีกกว่า 32 ล้านแปลง ที่ต้องทำการประเมิน ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วขณะนี้ คาดต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี" นายสมหมาย กล่าว

    ที่ผ่านมามีรายงานถึงรายละเอียดในเบื้องต้นของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ จะเป็นการปรับปรุงจากร่างเดิมที่กระทรวงการคลังเคยยกร่างมาแล้ว โดยจะกำหนดเพดานภาษีตามกฎหมายให้สูงขึ้น เพื่อรองรับในอนาคตที่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวมากกว่าปัจจุบัน แต่อัตราการจัดเก็บจริงนั้น จะมีการพิจารณาในชั้นของกฎหมายลูก

    ปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่

    สำหรับเพดานภาษีใหม่ อาจกำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย และที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าที่ดิน ที่ดินเชิงพาณิชย์ในอัตราไม่เกิน 1% และที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 2%

    ส่วนเพดานภาษีตามร่างเดิมที่เคยเสนอไว้ กำหนดอัตราภาษีตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยจะจัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.05% และอัตราทั่วไปหรืออัตราที่จัดเก็บกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบธุรกิจจัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5%

    แนวคิดของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ให้มีการจัดเก็บภาษีการถือครองทรัพย์สินที่เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีในปัจจุบัน เช่น กรณีภาษีบำรุงท้องที่ ที่มูลค่าที่ดินยิ่งสูง อัตราภาษียิ่งต่ำลง ขณะที่ ภาษีโรงเรือนในปัจจุบัน ที่เก็บจากฐานค่าเช่า ดังนั้น บ้านอยู่อาศัย ได้รับการยกเว้น และภาระภาษียังถูกผลักไปให้กับผู้เช่าด้วย

    ถกตั้งองค์กรปฏิรูปภาษีเดือนนี้

    นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการภาษี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดตั้งองค์กรปฏิรูปภาษีขึ้นมา โดยจะมีรูปแบบเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจะมีบุคลากรจากภาคส่วนองค์กรรัฐ เอกชน และนักวิชาการ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วม ก่อนจะดำเนินการปฏิรูปภาษีอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าว จะหาข้อมูลแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในการปฏิรูปภาษีด้านต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน จากนั้นก็จะนำเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อให้ สปช.พิจารณา ทั้งนี้แนวทางร่างการปฏิรูปภาษีเบื้องต้น จะใช้รูปแบบของประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบ

    "องค์กรปฏิรูปภาษี จะเป็นองค์กรกลาง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานร่วมกัน เพื่อให้การปฏิรูปภาษีจะประสบความสำเร็จ และองค์กรดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลข้อดีข้อเสีย ความเหลื่อมล้ำการเสียภาษี แนวทางการปฏิรูปภาษีที่จะต้องเร่งดำเนินการดังนั้นองค์กรดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งขึ้นมา" นายกิตติพงศ์กล่าว

    เตรียมถกบอร์ดตลาด 24 ธ.ค.นี้

    นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานปฏิรูปภาษีตลาดทุน โดยจะมีการประชุมกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ และจะมีการนำแนวทางการปฏิรูปภาษีที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนมาหารือร่วมกัน เช่น ภาษีเงินปันผล ภาษีส่วนต่างกำไรขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ภาษีควบรวมกิจการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 30-60 วัน ถ้าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เห็นด้วย จะนำเสนอต่อ สปช. แต่ถ้าไม่เห็นด้วย จะอาศัยในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิก สปช. เสนอให้พิจารณา

    ที่ปรึกษาชี้กฎหมายภาษีไม่เอื้อผู้ใช้

    นายอวยพร ตันละมัย บริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา กล่าวว่า การปฏิบัติการภาษีมีปัญหามากกว่าที่คิด เนื่องจากปัจจุบันหลักการภาษีไม่ชัดเจน หรือกฎหมายมีปัญหาไม่ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และกฎหมายภาษีมีปัญหาในเรื่องของการตีความไม่แน่นอน ไม่กำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการทั่วไป การออกกฎหมายไม่ได้เอื้อประโยชน์กับผู้ที่ใช้งาน

    นายพิภพ วีระพงษ์ ที่ปรึกษากฎหมายภาษีอากร Lawalliance Limited กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาภาษีที่สำคัญ คือ การหามาตรการเพิ่มความสมัครใจให้กับผู้เสียภาษีมีส่วนร่วม โดยมองว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการและเรื่องการแก้ไขโครงสร้างภาษีให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

    Tags : สมหมาย ภาษี • กระทรวงการคลัง • ดัดหลัง • ภาษีมรดก • สรรพากร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้