รู้จัก Mini Program ของ WeChat ช่องทางสำคัญกับการเป็น SuperApps และผลักดัน O2O

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 28 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ที่ผ่านมาเราอาจเคยอ่านเจอวิสัยทัศน์ของสตาร์ทอัพที่พัฒนาแอปอย่าง Grab, Uber ว่าต้องการเป็น Super Apps หรือการเป็นแอปรวมทุกบริการ ทุกการใช้งานของผู้ใช้งาน ครอบคลุมในทุกมิติ คือเข้าแอปเดียวทำได้ทุกอย่าง

    แม้แอปที่เราใช้งานกันส่วนใหญ่จะยังคงไม่สามารถสถาปนาตัวเองเป็น SuperApps ได้อย่างจริงจัง แต่ในประเทศจีน WeChat แอปแชทที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศ ประสบความสำเร็จไปเรียบร้อยแล้วจากการเป็น SuperApps โดยอาศัยการสร้างอีโคซิสเต็มจากจำนวนคนใช้งานแอปที่เยอะอยู่แล้วผ่าน Mini Program

    [​IMG]

    Mini Program แพลตฟอร์มแอปซ้อนแอป


    Mini Program เป็นแพลตฟอร์มให้ร้านค้า ผู้ประกอบการหรือใครก็ได้มาพัฒนาแอปบนแพลตฟอร์ม WeChat และเชื่อมต่อกับแอคเคาท์หรือฟีเจอร์ต่าง ๆ บน WeChat ช่วยให้ผู้ใช้งานหรือลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ของแบรนด์ได้ทันที

    ด้วยความที่ Mini Program เป็นแอป ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์อย่างที่เราคุ้นบน Messenger หรือ LINE Official Account การใช้งาน Mini Program ของแบรนด์ต่าง ๆ เลยค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่แอปอีคอมเมิร์ซของ JD, แอปค้นหาและเช่าจักรยานของ Mobike พร้อมรองรับการจ่ายเงินในตัว, แอปหาสถานีชาร์จของ Tesla, แอปสั่งเบอร์เกอร์ของ McDonald เป็นต้น

    [​IMG]Mini Program ของ JD

    กล่าวอีกอย่างคือ Mini Program เป็นแพลตฟอร์มแอปที่ซ้อนอยู่บน WeChat อีกที มีความสามารถมีฟีเจอร์ไม่แตกต่างจากแอปแยก แต่ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนในแต่ละแอป รวมถึงสามารถทำธุรกรรมผ่านแอปบน Mini Program ได้ทันทีผ่าน WeChat Pay ซึ่งในแง่ประสบการณ์ใช้งานถือว่าค่อนข้างสะดวกมาก ๆ

    [​IMG]Mini Program ของ Mobike

    ในแง่ของแบรนด์หรือผู้ประกอบการ การพัฒนาหรือเข้าสู่แพลตฟอร์ม Mini Program ก็ค่อนข้างง่าย หากบริษัทมีนักพัฒนา จะเขียนแอปหรือพอร์ทแอปขึ้นมาบน Mini Program ก็ได้ หรือหากเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ ไม่มีทีม ไม่มีทรัพยากร ทาง WeChat ก็มีเครื่องมือที่เรียกว่า Program Maker สำหรับเขียนแอปแบบง่าย ๆ บน Mini Program ให้ด้วย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องโค้ด WeChat มี template ให้เสร็จสรรพ อินเทอร์เฟสก็อาศัยการ drag & drop เป็นหลักเท่านั้น รวมถึงสามารถเปิดเดโมบนสมาร์ทโฟนได้ภายในไม่กี่คลิ๊ก และพร้อมใช้งานเลย

    [​IMG]Program Maker

    หมากตัวสุดท้ายของอีโคซิสเต็มเชื่อม O2O


    WeChat เดิมมีแพลตฟอร์มคล้าย ๆ LINE ในบ้านเราคือมี Official Account สำหรับการกระจายข้อมูล โปรโมชันต่าง ๆ จากออนไลน์ และ WeChat Pay สำหรับทำธุรกรรมไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จอยู่แล้ว โดยมี QR Code เป็นตัวเชื่อม (connector) จนเป็นโมเดลที่ Tencent เรียกแพลตฟอร์มทีขับเคลื่อนด้วย QR นี้ว่า QR Economy

    ทว่าสิ่งที่แพลตฟอร์ม WeChat ขาดคือ touchpoint ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) ที่ก่อนหน้านี้ ยังเกิดขึ้นนอกแพลตฟอร์มอยู่ อาทิ แอปอีคอมเมิร์ซหรือแอปของแบรนด์ ดังนั้น Mini Program จึงเป็นเสมือนหมากตัวสุดท้ายของ WeChat ในการเชื่อมต่อและรักษาจำนวนผู้ใช้ให้อยู่บนแพลตฟอร์มและทำธุรกรรมผ่าน WeChat มากยิ่งขึ้น

    [​IMG]

    WeChat ได้จัดงาน WeChat Open Class Pro 2020 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเป็นการฉลองครบรอบ Mini Program ที่เข้าสู่ปีที่ 3 ด้วย โดยปีนี้มีจำนวนแอปบน Mini Program แตะ 2 ล้านแอปแล้ว เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่มีแค่ราว 1 ล้านแอปเท่านั้น การทำธุรกรรมปีที่ผ่านมาก็มีเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 800 ล้านหยวนหรือราว 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 160%

    ในแง่จำนวนผู้ใช้งานรายวัน (DAUs) ก็เติบโตขึ้นอยู่ที่ราว 300 ล้านคน เพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับผู้ใช้งาน WeChat ที่ล่าสุดอยู่ที่ราว 1.15 พันล้านคนและ WeChat Pay ที่ราว 900 ล้านคน แม้จะดูยังห่างไกล แต่คาดว่าก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จากการปรับปรุงพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้กับ Mini Program


    อย่างปีนี้ WeChat ระบุด้วยว่าจะผลักดันผลักดันการขายของผ่านไลฟ์วิดีโอ (ประมาณแม่ค้าไลฟ์ขายเสื้อผ้าในบ้านเรา) ผ่าน Mini Program เพื่อชนกับ Taobao ของ Alibaba แล้วด้วย ซึ่งก็น่าจะช่วยเพิ่มผู้ใช้งานและการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มอีกไม่น้อย

    Topics: WeChatTencent
     

แบ่งปันหน้านี้