ธกส.เผยความเสี่ยงเอ็นพีแอลสูง "ข้าว-ยาง"ตกต่ำฉุดกำลังชำระหนี้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ธ.ก.ส. รายงานบอร์ดใหญ่ ความเสี่ยง 3 ด้านอยู่ในระดับสูง "คุณภาพสินเชื่อ-ผลตอบแทน-การแข่งขัน" เผยเอ็นพีแอลปรับขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังราคาข้าว และยางพาราตกต่ำ ฉุดความสามารถในการชำระหนี้เกษตรกร ด้านบอร์ดอนุมัติแผนงาน 5 ปี เน้นพัฒนาสร้างแหล่งทุนชุมชนเชื่อมระบบธ.ก.ส.ช่วยแก้หนี้นอกระบบ แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานครั้งล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานะความเสี่ยงของ ธ.ก.ส.ประจำไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 2557 และแนวโน้มในระยะถัดไป พบว่าระดับความเสี่ยงของปัจจัยเสี่ยงระดับองค์กรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับค่อนข้างต่ำถึงต่ำ ยกเว้นปัจจัยเสี่ยงคุณภาพสินเชื่อ การบริหารผลตอบแทน และภาวะการแข่งขัน ที่มีระดับความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับแนวโน้มในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ปรับตัวอยู่ในช่วงระดับต่ำถึงปานกลาง ยกเว้น ปัจจัยเสี่ยงคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มความเสี่ยงคงที่อยู่ที่ระดับสูง ทั้งนี้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อ จะวัดจากระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2 ( สิ้น ก.ย.2557) อยู่ในระดับ 4.6 % ของสินเชื่อโดยรวม สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกำหนดว่า อยากให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำกว่า 4% โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาข้าว และยางพาราคาที่ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรจึงปรับลดลงตามไปด้วย สำหรับความเสี่ยงทางด้านผลการดำเนินงานนั้น เป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ ที่แคบลง เพราะต้นทุนเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธ.ก.ส.ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ เพราะต้องดูแลเกษตรกร ทางด้านความเสี่ยงภาวการณ์แข่งขันนั้น กรรมการบริหารความเสี่ยงของธ.ก.ส.จะดูที่อัตราการเติบโตของสินเชื่อ ตามเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 10% แต่แนวโน้มจะไม่ถึง แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ที่ประชุมบอร์ดยังเห็นชอบทิศทาง และยุทธศาสตร์การดำเนินงานของธ.ก.ส.ใน 5 ปีข้างหน้า สำหรับปีบัญชี 2558-2562 ซึ่งมี 6 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ยุทธศาสตร์แรก ธ.ก.ส.จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม โดยพัฒนาชุมชนต้นแบบ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร 3.พัฒนาบริการทางการเงินอย่างครบวงจร 4. บริหารเงินทุนให้สมดุลและเพียงพอ 5. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และ 6.ยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการและการบริการที่คำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม Tags : ธ.ก.ส. • ยางพารา • ข้าว