สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA (EGA เดิมที่เปลี่ยนชื่อ) เริ่มศักราชใหม่ปี 2563 ด้วยการเปิดตัวประธานบอร์ดคนใหม่ นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานคนใหม่ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและยุทธศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวาระการทำงาน 3 ปี ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.สุพจน์ เคยทำงานด้านโทรคมนาคมกับบริษัท TT&T จากนั้นเคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) ในสังกัด กทช. เดิม ก่อนย้ายสายงานไปอยู่กับสถาบันการศึกษา ดูแลเรื่อง digital transformation ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผลงานสร้างช่องทางดิจิทัล ให้นิสิตสามารถทำธุรกรรมต่างๆ เช่น จ่ายค่าเทอม หรือ ขอบัตรประจำตัวได้ผ่านระบบออนไลน์ นายอารีพงษ์ ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวของ DGA ว่าในฐานะที่เป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต ทำงานมาหลายกระทรวง (เป็นปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงพลังงาน) และเคยเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่มีหน้าที่ทำเรื่องปรับปรุงระบบราชการโดยตรง ก็ตระหนักว่าในมุมของข้าราชการ มองเฉพาะงานในหน่วยงานของตัวเองอย่างเดียว แต่ประชาชนไม่ได้มองงานของทางราชการแยกเป็นกระทรวงๆ แบบนั้น แต่มองภาพรวมว่า บริการของราชการยังยุ่งยากและไม่สะดวก จึงเป็นโจทย์ของ DGA ว่าทำอย่างไรจึงสามารถให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.สุพจน์ เล่าว่าในมุมของประชาชน ไม่มีใครอยากไปที่ทำการอำเภอเพื่อติดต่อราชการ เพราะยุ่งยากเสียเวลา ดังนั้นอะไรที่สามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัลได้ ก็ควรต้องทำให้ได้ คนทั่วไปอาจรู้จัก EGA เดิมในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างบริการดิจิทัลให้ภาครัฐ เช่น ระบบคลาวด์สำหรับราชการ แต่พอมาเป็น DGA จะไม่ทำบทบาทเรื่อง service provider เป็นผู้ให้บริการแล้ว จะเปลี่ยนตัวเองมาเป็น orchestrator เป็นผู้ประสานงานและผลักดันแทน ในแง่การจัดซื้อ บริการใดที่ยังสามารถซื้อรวมกันได้แล้วประหยัดกว่า ก็อาจมาให้ DGA เป็นคนต่อรองให้ได้ แต่บริการบางอย่างที่หาง่ายในท้องตลาด ราคาของเอกชนแต่ละรายไม่ต่างกันมาก เช่น ลิงก์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของหน่วยงาน ถ้าให้หน่วยงานซื้อเองแล้วสะดวกกว่า ก็ควรให้ซื้อเอง DGA จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานให้แทน ดร.สุพจน์ มองว่าการสร้างบริการดิจิทัลให้กับประชาชน ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง Digital ID & Signature ใช้ยืนยันตัวตนของประชาชน เรื่องนี้ร่วมมือกับกรมการปกครองช่วยกันผลักดัน Service Request & Tracking การกรอกฟอร์มเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ประชาชนต้องสามารถติดตามสถานะได้ว่าเรื่องไปถึงขั้นไหนแล้ว E/Mobile Payment การจ่ายและรับเงินควรเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด ไม่ควรต้องไปต่อคิวจ่ายเงินที่หน่วยงานราชการอีก เรื่องนี้อุตสาหกรรมธนาคารไทยก็ทำงานไปเยอะพอสมควรแล้ว E-cert/License เมื่อขอรับบริการเสร็จเรียบร้อย รัฐออกใบรับรองให้ว่าทำงานเสร็จ ใบรับรองนี้ก็ไม่ควรเป็นกระดาษอีก ดร.สุพจน์ เล่าว่าจากประสบการณ์ทำ Transformation ที่จุฬาฯ พบว่าต้องมีปัจจัย 3 ด้านร่วมกันจึงจะประสบความสำเร็จ เทคโนโลยี DGA จะเน้นที่การกำหนดมาตรฐานเป็นหลัก แต่ถ้าบางงานจำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มกลาง ก็จะเป็นผู้สร้างให้ กระบวนการ ช่องทางการให้บริการเปลี่ยนไป หน่วยงานภาครัฐต้องปรับกระบวนการภายในของตัวเองตามด้วย คน จุฬาฯ ประสบความสำเร็จเรื่องการปรับช่องทางให้บริการนิสิต แต่พบว่าคนทำงานข้างในจุฬากลับรู้สึกไม่ค่อยมีส่วนร่วม ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทำไม เป็นบทเรียนว่าข้าราชการต้องมีส่วนร่วมด้วย ไม่งั้นไม่อิน พนักงานของ DGA ประมาณ 300 คนก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในเรื่องคน/เทคโนโลยี/กระบวนการ ไม่อย่างนั้น หน่วยงานอื่นก็ไม่รู้จะปรึกษาหรือมาคุยกับ DGA ทำไม เป้าหมายปลายทางของ DGA ในช่วง 3 ปีนี้จะทำ 3 เรื่องคือ Digitalization ผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล Digital Platform สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของภาครัฐ Open Data เปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น Topics: DGAGovernmentThailand