ผนึก35แบงก์9ประเทศรับเออีซี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 4 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    กสิกรผนึก35แบงก์9ประเทศรับเออีซี "บัณฑูร"ชี้ต้องปรับเร็ว สร้างเครือข่ายรองรับ ความต้องการลูกค้า

    ธนาคารกสิกรไทยสร้างเครือข่ายธนาคารพาณิชย์จาก 9 ประเทศ เตรียมรองรับการขยายตัวการค้าการลงทุนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี)ในปีหน้า ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทยและอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

    ธนาคารกสิกรไทยลงนามความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรในภูมิภาครวม 35 แห่ง จาก 9 ประเทศ คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในความร่วมมือ "พันธมิตรธนาคารในอาเซียน+3“ (ASEAN+3 Banking Alliance) บนพื้นฐานแห่งปฏิญญากรุงเทพฯ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านธนาคาร (Banking Experience) และระดมความคิดการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่สู่สากล

    การลงนามดังกล่าวยังช่วยให้ขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการออกไปกว้างยิ่งขึ้น โดยเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่นต่างประเทศในการออกผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้านการธนาคารระหว่างกัน เป็นการยกระดับการให้บริการของธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับสากลเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้ริเริ่มการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ได้จัดตั้งโครงการความร่วมมือ "Taksila ASEAN Banking Forum" ซึ่งเป็นการอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการเงินให้มีศักยภาพโดดเด่นในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชีย

    โครงการดังกล่าวมี 2 หลักสูตรที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ คือ หลักสูตรภาวะผู้นำ (Taksila ASEAN Banking Forum Leadership Program 2015) สำหรับผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้นำในอนาคตที่มีศักยภาพ และหลักสูตรความเชี่ยวชาญด้านการธนาคาร (Taksila ASEAN Banking Forum Banking Expertise Program 2015) สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

    รองรับเออีซีปลายปี 2558

    นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรจากเดิมที่เป็นความร่วมมือในระดับทวิภาคีให้เป็นพหุภาคีเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

    “ธนาคารแต่ละประเทศอยู่ในที่ของตัวเอง แต่การค้าข้ามพรมแดนมากขึ้น เราอยากช่วยให้ลูกค้าของเราข้ามพรมแดนได้สำเร็จ จึงต้องรวมเป็นเครือข่าย โดยอาศัยความเป็นศูนย์กลางภูมิศาสตร์และโครงสร้างที่เป็นประเทศเปิด เป็นจุดเริ่มต้นในการขยายไปประเทศรอบ ๆ การเข้าไปเปิดสาขาในแต่ละประเทศต้องยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง การมีแค่ 1-2 สาขาก็ไม่ครอบคลุมกับการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น เช่น ธนาคารท้องถิ่นในญี่ปุ่นมีลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการออกมาลงทุนต่างประเทศ แต่ไม่มีเครือข่ายต่างประเทศรองรับ ความร่วมมือนี้ก็จะช่วยให้ไม่เสียลูกค้าให้กับแบงก์ญี่ปุ่นรายอื่น”

    นายบัณฑูรกล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความตื่นตัวของเอกชนและประเทศที่เข้าร่วมปฏิญญาครั้งนี้มาจากประเทศนอกอาเซียนอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและมีความรู้ที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการค้าขายการลงทุนได้ หวังว่าจะนำมาซึ่งการเติบโต

    ชี้แบงก์ต้องปรับตัวรับลูกค้า

    นายบัณฑูร กล่าวว่าข้อตกลงปฏิญญากรุงเทพฯจะบรรลุเป้าหมายได้ ธนาคารในภูมิภาคอาเซียนต้องมีการร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพและยกระดับการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศไปสู่กลุ่มลูกค้าในภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง

    “การรวมตัวกันของเออีซีในปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทางด้านเงินทุน สินค้าและบริการเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 รวมทั้ง ปริมาณการค้าและการลงทุนก็จะสูงขึ้นด้วย ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งมอบบริการข้ามพรมแดนด้านการเป็นที่ปรึกษา ด้วยข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธนาคารผ่านช่องทางบริการที่มีประสิทธิภาพ”

    นายบัณฑูร ยังกล่าวถึงการที่ญี่ปุ่นได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงการเติบโตหลังจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับยุโรปที่อาจจะดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกันว่า ถือเป็นเรื่องดีที่เมื่อเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าวฟื้นตัวจริงก็จะส่งผลดีกับการส่งออกของไทย ส่วนค่าเงินบาทไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

    ในส่วนของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตได้ด้วยภาคเอกชน แต่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ โดยปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 1.5-1.6% ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 4% และหากยกเลิกกฎอัยการศึกได้ก็จะทำให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงการเร่งผลักดันโครงสร้างการคมนาคมและการบริหารจัดการน้ำรวมถึงโครงสร้างที่ทำให้คนเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว

    Tags : กสิกรไทย • ธนาคารพาณิชย์ • เออีซี • บัณฑูร ล่ำซำ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้