กรมศุลยืนเป้าปี58รายได้1.18แสนล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 3 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    อธิบดีกรมศุลกากร เผยปัจจุบันมีผู้นำเข้าใช้สิทธิ์ภาษี 0% เพียง 20-25% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด

    นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า แม้บทบาทด้านการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรจะทยอยลดลงตามอัตราภาษีนำเข้าที่เกือบทุกรายการสินค้าจะอยู่ในระดับ 0%ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ แต่การใช้สิทธิ์อัตราภาษีดังกล่าวยังมีสัดส่วนที่น้อย โดยปัจจุบันมีผู้นำเข้าที่ได้รับสิทธิ์อัตราภาษีนำเข้า 0% นั้น มีเพียง 20-25% ของผู้นำเข้าทั้งหมด ดังนั้น การจัดเก็บรายได้ของกรมฯจึงยังถือเป็นภารกิจหลัก

    ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กรมฯมีเป้าหมายยอดการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี กรมฯยังมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายต้องเสียภาษีอื่น เช่น กรมสรรพสามิต และ กรมสรรพากร ซึ่งภาษีเหล่านี้จะสร้างรายได้สำคัญให้แก่หน่วยงานจัดเก็บดังกล่าว โดยเฉพาะกรมสรรพากรจะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกสินค้าที่มีการนำเข้า ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญของกรมสรรพากร ขณะเดียวกัน ในแง่กรมสรรพสามิตนั้น ก็จะมีการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายการเสียภาษีสรรพสามิต เช่น รถยนต์ ซึ่งส่วนนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของกรมสรรพสามิตเช่นกัน

    “เรามีบทบาทน้อยลงก็จริงในแง่ของการจัดเก็บรายได้ แต่หน้าที่ของกรมฯก็ยังต้องจัดเก็บภาษี ทั้งเก็บแทนให้แก่กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร คิดเป็นรายได้หลายแสนล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีของเราก็ยังมี เพราะผู้นำเข้าสินค้าที่ได้สิทธิ์อัตราภาษีที่ 0% มีเพียง 20-25% ของผู้นำเข้าสินค้าทั้งหมดเท่านั้น เพราะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าต่างๆ”เขากล่าว

    เขากล่าวด้วยว่า เมื่อหน้าที่ในการจัดเก็บภาษียังถือเป็นหน้าที่หลัก การจัดกำลังบุคลากรเพื่อรองรับก็จำเป็นต้องดำเนินการเช่นกัน ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีข้างหน้านั้น จำนวนบุคลากรของกรมฯจะหายไปราว 50% จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 4,000 คน เนื่องจาก ทยอยเกษียณอายุราชการ ดังนั้น กรมฯจึงจำเป็นต้องขอบุคลากรเพิ่ม เพื่อรองรับกำลังบุคลากรที่หายไปดังกล่าว

    นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลมีแนวนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณการค้าและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 กรมฯจึงมีส่วนสำคัญที่จะพัฒนาในส่วนของด่านศุลกากรต่างๆ เพื่อรองรับ โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมฯได้รับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาด่านศุลกากรที่สำคัญ เช่น ด่านสะเดา , ด่านอรัญประเทศ ,ด่านคลองใหญ่ ,ด่านปาดังเบเซาร์ ,ด่านมุกดาหาร และ ด่านแม่สอด เป็นต้น

    “การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะมีการส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ ขณะเดียวกัน การพัฒนาด่านศุลกากรดังกล่าวนั้น ก็จะเปิดให้มีการขออนุญาตการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน และ เขตปลอดอากร และ การให้สิทธิประโยชน์ 19 ทวิ ของกรมฯ ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะพัฒนาสนามบินในจุดต่างๆ เช่น สุวรรณภูมิเฟสสอง ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้บุคลากรของกรมฯเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”เขากล่าว

    นอกจากนี้ หากมองในแง่การปราบปรามสินค้านำเข้าหนีภาษี เมื่อการค้าขายระหว่างประเทศมีปริมาณมากขึ้น การนำเข้าสินค้าเถื่อนก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น กรมฯจึงจำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังและประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น โดยสินค้ากลุ่มสำคัญที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ กลุ่มนำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษี เพราะกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่ทำให้รัฐเสียรายได้ ขณะที่ อัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 80% ของมูลค่า ดังนั้น กรมฯจึงจะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มนี้ให้มากขึ้น คาดจะทำให้รายได้กรมฯเพิ่มราวปีละ 700-800 ล้านบาท

    สำหรับการพัฒนาการอำนวยความสะดวกต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้านั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ กรมฯกำลังเชื่อมโยงข้อมูลระบบการให้บริการแบบ National Single Windowกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อให้บริการนำเข้าส่งออกที่สะดวกมากขึ้น โดยขณะนี้ ได้เชื่อมโยงข้อมูลไปแล้ว 25 หน่วยงาน ตั้งเป้าหมายในปี 2558 จะเชื่อมโยงให้ครบทุกหน่วยงานเป็น 36 หน่วยงาน

    Tags : สมชัย สัจจพงษ์ • กรมศุลกากร • จัดเก็บรายได้

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้