ช.การช่างมั่นใจนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ ถือระยะยาว หลังเข้าพบเพื่อขอข้อมูล ชี้ยังมีมูลค่าซ่อนจากการลงทุนอยู่มาก นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่สนใจเข้ามาถือหุ้นในบริษัท และบริษัทในเครือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหุ้นบริษัท ช.การช่าง และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL โดยในส่วนของ ช.การช่าง นั้น น่าจะเข้ามาถือหุ้นจนทำให้สัดส่วนนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เพิ่มเป็น 10% เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ได้เข้ามารับฟังข้อมูลจากบริษัท รวมไปถึงกลุ่มนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ ที่มีมูลค่าหุ้นซ่อนอยู่อีกมาก โดยในส่วนของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ นั้น จะเห็นการขาดทุนที่ลดลงทุกปี และจะพลิกมีกำไรสุทธิในปีที่รถไฟสายสีม่วงเริ่มเปิดให้บริการ หรือประมาณปี 2560-2561 "เมื่อบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพมีกำไรสุทธิแล้ว ก็จะปลดล็อกเรื่องความสามารถในการจ่ายเงินปันผล จากที่ไม่เคยจ่ายเงินปันผลมาตลอด 10 ปี เพราะบริษัทยังมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่ เมื่อปันผลได้ ความเซ็กซี่ของหุ้นก็จะเพิ่มมากขึ้น และบริษัทยังอยู่ในกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่งของไทยอีกด้วย" สำหรับบริษัท ช.การช่าง แม้ปัจจุบันจะมีหนี้อยู่มาก แต่เป็นหนี้เงินกู้เพื่อดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และหนี้เงินกู้เพื่อลงทุนในบริษัทต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มกลับมาให้บริษัทมากกว่ามูลหนี้ที่เคยเกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการให้ข้อมูลประเด็นดังกล่าว ก็มีนักลงทุนรายใหญ่ รวมถึงนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการเข้าลงทุนในบริษัทค่อนข้างมาก "แม้บริษัทจะมีหนี้เยอะ แต่ก็สามารถทำกำไรได้ใกล้เคียงกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน หนี้ของบริษัทเป็นหนี้ที่มีแอสเซทที่สร้างมูลค่าให้มากกว่าหนี้นั้น แต่ยังไม่ได้ปรากฏในตัวเลขในช.การช่างเท่านั้น หากตัดสินใจขายเงินลงทุนต่างๆ ในปัจจุบัน จะได้ผลตอบแทนกลับมามากกว่าเท่าตัว ถ้าดูในพอร์ตการลงทุนอย่างเดียว บริษัทน่าจะมีการลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดแล้ว" ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะเริ่มมีกำไรประมาณปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่รถไฟสายสีม่วงเริ่มเปิดดำเนินการ ทั้งนี้ บริษัทได้สัมปทานเป็นผู้ให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุง ซึ่งต่างจากสัมปทานรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ที่เป็นผู้ให้บริการทั้งระบบและมีส่วนได้เสียจากค่าโดยสาร ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเริ่มเปลี่ยนเมื่อสายสีม่วงเปิดดำเนินการ จากเดิมที่มีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการ และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะเริ่มมีรายได้จากค่าจ้างในการให้บริการเดินรถไฟสายสีม่วงให้กับรฟม. เพิ่มเข้ามา สำหรับผลประกอบการปี 2557 บริษัทคาดการณ์รายได้รวมเติบโต 10% จากปีที่แล้ว และจะมีขาดทุนสุทธิลดลง โดยงวด 6 เดือนแรกปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 1,368 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.40% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,206 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 443 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีขาดทุนสะสมประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ภายในปี 2560-2561 วิธีการมาจากการนำกำไรจากการดำเนินการไปล้างขาดทุนสะสม จากนั้นเชื่อว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ขณะเดียวกัน คาดการณ์อัตราการเติบโตของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4% ต่อปี โดยปีนี้คาดการณ์ผู้โดยสารที่ 2.7 แสนคน ภายในปี 2559 น่าจะมีผู้โดยสารในสายสีน้ำเงิน 3 แสนคน ทั้งนี้ เมื่อสายสีม่วงเปิดดำเนินการ จะส่งผลให้มีผู้โดยสารเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 50% ของผู้โดยสารในสายสีม่วงที่ประเมินไว้ที่ 2 แสนคน จะส่งผลให้ในปี 2559 จะมีผู้โดยสารเข้ามาในระบบของ MRT เป็น 5 แสนคน "ในมุมมองบริษัท จะดูประโยชน์ของผู้ถือหุ้นก่อน แม้ว่าบริษัทจะไม่ใช่บริษัทที่มีกระแสเงินสดจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรบกวนเงินจากผู้ถือหุ้น ไม่เคยมีการเพิ่มทุน และหากดูในแง่ผลประกอบการ ก็เห็นแนวโน้มแล้วว่าบริษัทจะดีขึ้นเรื่อยๆ ขาดทุนลดลง ขั้นต่อไปคือบริษัทจะพยายามจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นให้ได้ ซึ่งภาพก็มาแล้วว่าไม่ไกลจากนี้ เหล่านี้ก็ควรจะสะท้อนภาพได้ว่าราคาหุ้นควรเป็นอย่างไร" Tags : พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล • ช.การช่าง • ผู้ถือหุ้น • นักลงทุนสถาบัน