ธปท.จับตาผลกระทบ"คิวอี"ญี่ปุ่น คาดไม่เท่าเฟดทำคิวอี เหตุดอลลาร์ใช้กันแพร่หลายกว่า ประเมินส่งออกกระทบไม่มาก ขณะนักเศรษฐศาสตร์คาดกนง.คงดอกเบี้ย 2% ในการประชุม 5 พ.ย.นี้ ชี้เป็นระดับที่เหมาะสมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อหมดห่วงหลังราคาน้ำมันลดต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินผลกระทบจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินรอบใหม่ จะส่งผลกระทบไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งประกาศยุติไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว บีโอเจ ประกาศแผนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของตลาด โดยมีแผนจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมูลค่า 8-12 ล้านล้านเยน หรือ ราว 0.72-1.08 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งบีโอเจมีแผนที่จะซื้อพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในเวลา 5-10 ปี เป็นมูลค่า 2.4-3.6 ล้านล้านเยน และพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน 1-5 ปี เป็นมูลค่า 3.0-7.2 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ ยังเพิ่มฐานเงิน หรือเงินสดและเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับบีโอเจในอัตรา 80 ล้านล้านเยน หรือราว 7.26 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี จากเดิมที่ระดับ 60-70 ล้านล้านเยน มาตรการของบีโอเจ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้น ขณะที่ค่าเงินเยนเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลงทำสถิติในรอบ 7 ปี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่ามาตรการคิวอีของบีโอเจ ถือเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด แต่ในเบื้องต้น เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะไม่รุนแรงเท่ากับการทำคิวอีของเฟด “บางคนพยายามอธิบายว่า สาเหตุเพราะเงินดอลลาร์ใช้กันระหว่างประเทศมากกว่าเงินเยนและเงินยูโร ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน ดังนั้นผลกระทบคิวอีของญี่ปุ่นและยุโรปจึงคาดว่าจะน้อยกว่าของสหรัฐค่อนข้างมากด้วย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามดูผลกระทบ"นายประสารกล่าว ชี้คิวอี‘ยุโรป-ญี่ปุ่น’ในอดีตกระทบน้อย นายประสาร กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเคยทำคิวอีมาแล้ว แต่ผลกระทบไม่ได้มากเท่ากับกรณีของสหรัฐ อย่างไรก็ตามการทำคิวอีของญี่ปุ่นรอบนี้ มีผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง และทำให้เงินบาทเทียบกับเงินเยนแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในด้านการส่งออกบ้าง เพียงแต่การส่งออกไปญี่ปุ่นค่อนข้างพิเศษตรงที่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับทางญี่ปุ่น สินค้าที่ผลิตส่งไปญี่ปุ่นก็มักมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเข้ามาด้วย ซึ่งก็เป็นตัวช่วยชดเชยในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นได้เช่นกัน “ผลกระทบจากเงินเยนที่อ่อนคงมีบ้างแต่ไม่มากเท่ากับสกุลเงินดอลลาร์ เพราะธุรกิจหลายส่วนของเราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับญี่ปุ่น เพียงแต่ธุรกิจหลายอย่างของเรามีทั้งที่นำเข้าจากญี่ปุ่นและที่ผลิตเอง ในส่วนที่ผลิตเองก็คงจะมีผลกระทบอยู่บ้าง”นายประสารกล่าว คาดกนง.คงดอกเบี้ย2% ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินตรงกันว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน แต่ประเด็นที่ต้องติดตามในครั้งนี้ คือ กนง.จะมีความเห็นต่อเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินโลกอย่างไร การประชุมกนง. รอบนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกของ กนง. ใหม่ทั้ง 4 คนด้วย ได้แก่ นายจำลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายวิรไท สันติประภพ และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การประชุมกนง. วันที่ 5 พ.ย.นี้ เชื่อว่า กนง. ยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% และคาดว่า กนง.จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวไว้ยาวจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีหน้า “ยังไม่เห็นปัจจัยที่ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ ถ้าดอกเบี้ยจะขึ้นก็คงต้องรอให้ เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อน ซึ่งคาดว่าจะเห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า” นายเชาว์กล่าว สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเชื่องช้านั้น คงไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม เพราะคิดว่าประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ยท่ามกลางที่เฟดลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอาจไม่คุ้ม นายเชาว์ กล่าวว่า สาเหตุเพราะถ้า กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในขณะที่ปีหน้าเฟดมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้ และเชื่อว่าในอนาคตเฟดน่าจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 3% ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมกับภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยกลางปีหน้า นางอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ไทย กล่าวว่า กนง.อาจตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ก่อน แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่อย่างน้อยไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นต้นไป สัญญาณการฟื้นตัวน่าจะมีให้เห็นชัดเจนขึ้น “โอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลงคงมีน้อย แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า แต่ถ้าดูตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ ในปีหน้า แต่ละหน่วยงานยังมองการเติบโตที่ระดับ 4-5% สะท้อนถึงความมั่นใจที่มีการต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะเติบโตได้ใกล้กับศักยภาพ” นางอุสรากล่าว เชื่อกนง.ห่วงศก.โลกอ่อนแอ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กนง. น่าจะยังตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เพียงแต่หลังการประชุมคงต้องติดตามถ้อยแถลงของ กนง. ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ กนง. ให้ความสนใจและแสดงความเป็นห่วง “ถ้าดูภาพรวมเศรษฐกิจเราตอนนี้ ยังไม่เห็นประเด็นที่จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพราะเงินเฟ้อเองก็อยู่ระดับต่ำ ราคาน้ำมันก็ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จึงจำเป็นต้องประคองดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งดอกเบี้ยปัจจุบันก็เป็นระดับที่เหมาะสมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่” นายอมรเทพกล่าว อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของ กนง. ที่ออกมาหลังการประชุมน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยเชื่อว่า กนง. น่าจะให้น้ำหนักกับการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงกว่าคาด ซึ่งประเด็นนี้อาจกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยได้เช่นกัน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวเองก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่คาด นายอมรเทพ กล่าวว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้มองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. อาจจะล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ โดยมองว่าหากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็อาจเห็นการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายได้ในกลางปีหน้าเป็นต้นไป แต่ทั้งยังก็คงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกด้วย คาดดบ.ไม่ลดห่วงเสถียรภาพการเงิน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม แม้ว่ารัฐบาลจะแสดงความเป็นห่วงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่มากขึ้น แต่ ธปท. เองมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นตัวได้ โดยมองการเติบโตที่ 4.8% จึงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ (นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล) เองก็บอกว่า นโยบายการคลังกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว ดังนั้นนโยบายการเงินก็ควรต้องกลับมาทำหน้าที่ในตำแหน่งกองหลังของตัวเอง จึงไม่คิดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายพิพัฒน์กล่าว น้ำมันลดไร้แรงกดดันเงินเฟ้อ นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องจากแรงกดดันที่ทำให้ กนง. ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้มีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า รวมทั้งราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ “แม้เศรษฐกิจยังไม่สะท้อนการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง แต่ดอกเบี้ยปัจจุบันถือเป็นระดับที่เหมาะสมเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ กว่าจะเห็นผลคงต้องใช้เวลาบ้าง ไม่น่าจะทันปีนี้” นายกำพลกล่าว Tags : ธปท. • บีโอเจ • เฟด • เศรษฐกิจ • ธนาคารกลางสหรัฐ • คิวอี • ญี่ปุ่น • กนง. • ดอกเบี้ย • เศรษฐศาสตร์ • การเงิน • เงินเฟ้อ