คลัง เสนอตั้ง "เอสเอ็มอี เวนเจอร์ แคปปิตอล" วงเงินราว 5 หมื่นลบ. เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีอนาคตดีแต่ขาดหลักประกัน กระทรวงคลัง เสนอตั้ง "เอสเอ็มอี เวนเจอร์ แคปปิตอล" วงเงินราว 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีอนาคตดีแต่ขาดหลักประกัน ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เชื่อหนุนเศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะกลาง เล็งเปิดทางเอกชนร่วมลงทุน ขณะที่คลังใส่เงิน 10% วางแผนดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ส่วนการบริหารงานยึดโครงสร้างแบบกบข. จ้างมืออาชีพมาบริหาร นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอแนวคิดจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เวนเจอร์ แคปปิตอล วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยจะถือเป็นหนึ่งในมาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะปานกลางด้วย แนวความคิดที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ของประเทศ ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น การที่จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยผ่าน ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ แต่เพียงด้านเดียวคงไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเติบโตและแข็งแรงได้ แต่การเข้าร่วมทุนกับเอสเอ็มอีโดยตรง ผ่าน กองทุนร่วมลงทุน(เวนเจอร์ แคปปิตอล) จะช่วยลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของกิจการเอสเอ็มอีทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ เวนเจอร์ แคปปิตอลที่จะจัดตั้งขึ้นมานั้น กระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมลงทุนด้วย ในสัดส่วนประมาณ 10% ส่วนที่เหลือจะเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุน โดยวางแผนที่จะนำกองทุนนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ส่วนการบริหารงานนั้น จะตั้งหน่วยงานคล้าย การบริหาร การลงทุนใน กบข. คือ จะจ้างนักบริหารมืออาชีพมาช่วยบริหารกองทุนนี้ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ภายในสิ้นปีนี้ เขากล่าวว่า กองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอล จะเป็นประโยชน์ต่อ เอสเอ็มอี ที่มีหลักประกันทางธุรกิจต่ำ ทำให้ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แม้ว่าธุรกิจ อาจมีแนวโน้มในทางที่ดีก็ตาม นายสมหมาย กล่าวว่า การออกแบบกองทุน เอสเอ็มอี เวนเจอร์ แคปปิตอล ดังกล่าวนั้น จะพยายามออกแบบ ให้สามารถเข้าร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีที่มีผลตอบแทนในระดับกลางๆ ไม่ถึงกับดีมาก ได้ด้วย เช่น หากกำหนดว่า ผลตอบแทน ระดับ 15% ถือว่ามีผลตอบแทนที่ดีน่าลงทุน แต่เราก็จะไม่ทิ้งเอสเอ็มอีที่มี ผลตอบแทน ในระดับกลางๆ ที่ต่ำกว่า 15% เช่นในระดับ 8% ขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมาว่า อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ภาวะชะงักงัน หรือ ซบเซา(Stagnation) เนื่องจากประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองในช่วงปีที่แล้ว จนถึงกลางปีนี้ อย่างไรก็ตามหลังการยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ รัฐบาลชุดนี้ก็เริ่มอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกแรก ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค้างจ่ายของปีงบ 2558 และรวมถึงโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมเป็นเม็ดเงิน 3.58 แสนล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนี้นั้น ส่งผลให้ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้น เขากล่าวว่า ในไตรมาสที่สามของปีนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 69.3% จากไตรมาสที่สองที่อยู่ที่ 61.2% ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สามารถสะท้อนภาวการณ์บริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดีนั้น ในไตรมาสที่สาม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.3% เทียบกับไตรมาสที่สองที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เขากล่าวว่า หากโครงการลงทุนใหม่ของรัฐบาล สามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีผลมากขึ้น และเอกชนจะลงทุนตาม ในขณะนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นเสมือน เครื่องยนต์ที่เดินเครื่องได้เพียง 50% เท่านั้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ก็ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้แก้ไขเงื่อนไขการขอใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม หรือ รง.4 ทำให้มีการออกใบอนุญาตโรงงานมากขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 88.2% จากไตรมาสที่สอง ที่อยู่ 85.8%และคาดว่าในไตรมาสที่สี่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จะปรับสูงขึ้นจากไตรมาสที่สาม อีก 3-4% Tags : สมหมาย ภาษี • เอสเอ็มอี • คลัง