ไทยเบฟรุกหนักตลาดเอเชียประกาศแผนธุรกิจอีก6ปีข้างหน้า ลงทุนเพิ่ม3หมื่นล้าน หวังสร้างรายได้โต"เท่าตัว"3แสนล้าน พร้อมเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจต่างประเทศจาก24%เป็น50% ตามนโยบายเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผนึก 5 กลุ่มบริษัท ไทยเบฟ-โออิชิ-เสริมสุข-เอฟแอนด์เอ็น-อินเตอร์เบฟ รุกหนักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-นอนแอลกอฮอล์ เผยความคืบหน้าข้อพิพาทเมียนมาร์เบียร์ ยังไม่ยุติ หลังเมินขายหุ้นคืน เหตุราคาไม่เป็นธรรม ความเคลื่อนไหวของทุนใหญ่ เพื่อช่วงชิงตลาดเอเซียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจของตระกูล "สิริวัฒนภักดี" ในนามทีซีซี กรุ๊ป ล่าสุด ไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่รายได้กว่าแสนล้านต่อปี ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2563 หรือในอีก 6 ปีจากนี้ จะดันรายได้ธุรกิจเป็น 3 แสนล้านบาท สู้ศึกคู่แข่งในเอเซีย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียรช้าง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์รายใหญ่ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์การดำเนินงาน Vision 2020 ในงานไทยเบฟเอ็กซ์โป 2014 ว่า จากนโยบายของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บมจ. ไทยเบฟเบอเรจ หลังพบปะพันธมิตรทางการค้า เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา และได้ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2020 หรือปี 2563 จะนำธุรกิจเครื่องดื่มในกลุ่มให้มีรายได้เติบโต “เท่าตัว” หรือมียอดขาย 3 แสนล้านบาท จากปี 2556 ที่มียอดขายกว่า 1.5 แสนล้านบาท เปิด 5 กลยุทธ์หลักดันรายได้ โดยจะผนึก 5 บริษัทในเครือได้แก่ ไทยเบฟ ,บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น),บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด (IBHL) ,บมจ.โออิชิ และบมจ.เสริมสุข รุกตลาดเครื่องดื่มแอลกอล์และนอนแอลกอฮอล์ ภายใต้กลยุทธ์หลัก 5 ประการ ได้แก่ การเติบโตทั้งด้านรายได้และกำไร (Growth) โดยแต่ละปีบริษัทตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 12-15% ต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจมีความมั่นคงและมั่งคั่ง 2.การขยายธุรกิจ (Diversity) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่จะเติมเต็มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ โดยมุ่งเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งขยายตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ ตอกย้ำการเป็น “ผู้นำ” ตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียน ที่ปัจจุบันไทยเบฟมีส่วนแบ่งทางการตลาด 14% ในเชิงปริมาณ ขณะที่เชิงมูลค่ายังไม่เดินไปถึงจุดนั้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเจาะตลาดทั่วไป (แมส) มากกว่าระดับกลางบน 3.การพัฒนาแบรนด์ (Brand) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จ จากนี้ไปจะทำตลาดให้เข้าถึงใจผู้บริโภคทั้งรสชาติ ราคา ซึ่งการสร้างแบรนด์แบ่งเป็น 2 ระยะๆ ละ 3 ปี ปัจจุบันสินค้าของไทยเบฟ มียอดขายในเชิงปริมาณติดอันดับ 10 ของโลก คือสุราสี “Blend285” ส่วนสุราขาวตรา “รวงข้าว” ติดอันดับ 3 ในอาเชีย แนวทางจากนี้ไปจะผลักดันแบรนด์อันดับต้นๆ เหล่านี้สู่ภูมิภาคเอเซีย ทั้งเอฟแอนด์เอ็น เช่น เกลือแร่ประเภทอัดลม 100Plus ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน ,น้ำดื่ม ICE mountain, เบียร์ช้าง, อาชา, เฟดเดอบรอย และช้างเอ็กซ์ปอร์ต 4.การขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งเข้าถึงผู้บริโภคทุกพื้นที่ (Reach) ตอบสนองความต้องการเคียงข้างผู้บริโภคทุกที่ทุกเวลาสอดคล้องนโยบายบริษัท “Be with you” ผ่านบริษัทเสริมสุข, ไทยเบฟเวอเรจโลจิสติก และเอฟแอนด์เอ็น ที่วันนี้พร้อมนำสินค้าประชิดชายแดนด้วย และ 5.การสร้างทีมงานมืออาชีพ (Professionalism) ผ่านการเรียนรู้การทำงานระหว่างเอฟแอนด์เอ็น รวมทั้งตั้ง WAR Team ให้มีศักยภาพ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและพร้อมรุกตลาดเครื่องดื่มโลกที่มีทั้งอาเซียน, อาเซียนบวก 3 บวก 6 และบวก 9 เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดันสินค้าเบอร์1ทุกแคทิกอรี่ “วันนี้เราเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในอาเซียน โดยแผนปี 2020 เราจะต้องมีรายได้เติบโตในเชิงมูลค่าและกำไร โดยวิชั่นของเราครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังจาก 5 กลุ่มธุรกิจ ที่จะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่ง บริหารสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ โดยเป้าหมายของเราต้องการให้สินค้าของเราเป็นเบอร์ 1 ในทุกแคทิกอรีที่ทำอยู่ อย่างน้อยที่สุดก็ขอเป็นเบอร์ 2 อย่างแข็งแกร่ง ที่สำคัญคือจะรักษาความเป็นเบอร์ 1 อย่างต่อเนื่อง อาจจะท้าทายและยุ่งยากนั่นคือความมุ่งหวังของบริษัท” นายฐาปน กล่าว นายฐาปน ยังกล่าวว่า เป้าหมายในปี 2563 บริษัทจะผลักดันรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มนอลแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วนเป็น 50% จากปัจจุบัน 25% รวมทั้งรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% จาก 24% โดยบริษัทจะใช้งประมาณรวม 3 หมื่นล้านบาท หรือราว 5,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อลงทุนในกิจการต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ชู "แม่โขง" บุกโลกแข่งเหล้าสีชั้นนำ ด้านนายอวยชัย ตัณฑโอภาส กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารการขาย/สายธุรกิจสุราและกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจสุรา บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า บริษัทจะให้ความสำคัญในการรุกตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับโลก ชูแบรนด์แม่โขง แข่งกับเหล้าสีชั้นนำระดับโลก โดยวางแผนจะผลักดันให้เป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ และวางจำหน่ายในโรงแรมชั้นนำทั่วโลก ส่วนในอาเซียนจะให้ความสำคัญกับ 4 ประเทศหลัก ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ราว 85% ได้แก่ ไทย พม่า เวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยจะอาศัยเครือข่ายทางการค้าของทีซีซี กรุ๊ป เช่น เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ธุรกิจกระจายสินค้าและธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ที่มีช่องทางกระจายสินค้าแข็งแกร่งในการกระจายสินค้าเจาะตลาดในเวียดนานจรดใต้ สำหรับภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีนี้ ไม่มีการเติบโตในเชิงปริมาณ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษี และสถานการณ์ทางการเมือง กระทบการท่องเที่ยว และการบริโภค ทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีนี้ไม่มีการเติบโตในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงมูลค่าเติบโต 3% แซง "ซานมิเกล" หวังไล่ทัน "คิริน-อาซาฮี" “ปัจจุบันเรามีสินค้า 2 แบรนด์ที่ติดท็อปเทนของโลก คือสุราขาวรวงข้าว และสุราหงส์ทอง และจะผลักดันแบรนด์แม่โขงให้เทียบชั้นบาร์คาดี หรือมุ่งสู่การเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องการเติบโตปี 2563 เราจะมียอดขายแอลกอฮอล์สัดส่วน 25% จากปัจจุบัน 10% และภายในปีดังกล่าว รายได้รวมไทยเบฟจะอยู่ที่ระดับ 3 แสนล้านบาท ไล่เบอร์ 2 ยักษ์เครื่องดื่มในเอเชียรองจากคิรินและอาซาฮี โดยปัจจุบันไทยเบฟหลังผนึกกับเอฟแอนด์เอ็นเรากลายเป็นผู้นำเครื่องดื่มเบอร์ 3 ของเอเชีย แซงซานมิเกล แล้ว แต่เทียบกับเบอร์ 2 ยอดขายเรายังห่างไกลมาก” ด้านนายฮวง ฮง เป็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เบียร์ เอฟแอนด์เอ็น กล่าว บริษัทมีแผนจะซื้อแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเบียร์ เข้ามาเสริมพอร์ตเพิ่ม โดยจะโฟกัสใน 7 ประเทศในอาเซียน ยกเว้น 3 ประเทศมุสลิม ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายในการทำตลาดเบียร์ทั้งยี่ห้อช้าง, อาชาและเฟดเดอบรอย ให้กลับไปเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยอีกครั้ง จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดรวม(คอร์ปอเรทแชร์) 30% ของตลาดเบียร์รวม กรณีพิพาทเบียร์พม่ายังไม่ยุติ ส่วนความคืบหน้ากรณีพิพาทระหว่างเอฟแอนด์เอ็น ในฐานะผู้ถือหุ้นในเมียนมาร์เบียร์ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมาเอฟแอนด์เอ็น ที่ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยเอฟแอนด์เอ็นได้อ้างถึงประกาศเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2556 และ 10 ก.ย. 2556 เรื่องที่บริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิก โฮลดิงส์ ลิมิเต็ด (เอ็มอีเอชแอล) มีแผนที่จะยื่นอนุญาโตตุลาการ เกี่ยวเนื่องกับหุ้นของเอฟแอนด์เอ็นในบริษัทเมียนมาร์ บริวเวอรี ลิมิเต็ด (เอ็มบีแอล) ผู้ผลิตเมียนมาร์เบียร์ โดยเอ็มอีเอชแอลพยายามบังคับให้เอฟแอนด์เอ็น ขายหุ้น 55% ในเอ็มบีแอล ให้แก่ เอ็มอีเอชแอล ในราคา 246 ล้านดอลลาร์ ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงร่วมทุนระหว่างสองฝ่าย เอฟแอนด์เอ็นต้องการแจ้งข้อมูลล่าสุดให้ผู้ถือหุ้นทราบว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินว่าการประเมินราคา 246 ล้านดอลลาร์นั้น ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นธรรมของหุ้นที่เอฟแอนด์เอ็นมีอยู่ในเอ็มบีแอล และควรมีการขายในราคาที่กำหนดโดยผู้ประเมินอิสระซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทั้งสองฝ่าย Tags : สิริวัฒนภักดี • ทีซีซี กรุ๊ป • เครื่องดื่ม • ไทยเบฟเวอเรจ • ฐาปน สิริวัฒนภักดี • อาเซียน • แอลกอฮอล์ • เอเชีย