เกมตระกูล Civilization ถือเป็นเกมวางแผนแนว turn-based (ผลัดกันเดิน) ที่ได้รับความนิยมสูงมากเกมหนึ่ง (และเชื่อว่าชาว Blognone จำนวนไม่น้อยก็เป็นแฟนเกมนี้) ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่าย Firaxis ก็ออกเกมภาคหลักภาคใหม่อีกครั้ง ทิ้งห่างจากเกมภาคก่อนคือ Civilization V ที่ออกในปี 2010 ประมาณ 4 ปี เกมภาคใหม่ไม่นับชื่อภาคเป็นตัวเลข และแหวกขนบการสร้างอารยธรรมของมนุษย์ตามประวัติศาสตร์จริง มาเป็นการสร้างโลกต่างดาวในอนาคตแทน ทำให้เกมภาคนี้ถูกตั้งชื่อว่า Civilization: Beyond Earth ย้อนตำนาน Alpha Centauri ถึงแม้ Beyond Earth จะเป็น Civilization ภาคแรกที่เปลี่ยนฉากจากโลกมนุษย์มาเป็นดาวเคราะห์อื่นในอวกาศ แต่แฟนๆ ของเกมซีรีส์นี้น่าจะทราบกันดีว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นเกมของ Sid Meier บุกไปนอกโลก เหตุเพราะค่าย Firaxis เคยทำเกม Sid Meier's Alpha Centauri มาก่อนแล้วในปี 1999 ย้อนตำนานกันสักเล็กน้อย เกม Civilization สองภาคแรกถูกพัฒนาโดยสตูดิโอ MicroProse แต่หลังจากนั้นก็ประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของชื่อเกม จนทำให้ Sid Meier และทีมงานลาออกจาก MicroProse มาเปิดสตูดิโอใหม่ชื่อ Firaxis แทน ทีมงานยังอยากทำเกมวางแผนแบบ turn-based แต่สตูดิโอใหม่กลับไม่ได้สิทธิ์ใช้ชื่อ Civilization มาด้วย ทางออกจึงเป็นการสร้างเกมแบบเดียวกันแต่ใช้ชื่ออื่นแทน ผลลัพธ์ออกมาเป็นเกม Alpha Centauri ที่ฉีกแนวทางเดิม เปลี่ยนเนื้อเรื่องเป็นโลกยุคที่มนุษย์ออกไปบุกเบิกอวกาศ และค้นพบดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ Alpha Centauri ที่เหมาะสมกับการตั้งรกรากในที่สุด หน้าตาของ Alpha Centauri (ภาพจาก Civilization Official Wikia) ถึงแม้ไม่มีชื่อ Civilization แปะมาด้วย แต่ Sid Meier's Alpha Centauri ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ โดยได้คะแนนรีวิวจากนิตยสาร PC Gamer ไปถึง 98% มากที่สุดเท่าที่เคยให้มา (เป็นแชมป์ร่วมกับ Half-Life 2 และ Crysis ภาคแรก) เส้นทางของเกม Civization หลังจากนั้นคือบริษัทของเล่น Hasbro ซื้อกิจการ Firaxis และชื่อเกม Civilization กลับมารวมกัน ทำให้ค่าย Firaxis กลับมาได้ทำเกม Civilization ภาคต่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่ภาค III, IV, V และล่าสุดคือ Beyond Earth Beyond Earth สู่อวกาศ เนื้อเรื่องของ Beyond Earth ถูกผูกไว้หลวมๆ คือมนุษยชาติบนโลกกำลังจะล่มสลายจากเหตุการณ์หายนะที่เรียกว่า "The Great Mistake" (ไม่บอกว่าคืออะไร) ทำให้ต้องคัดเลือกคนเพื่อเดินทางสู่อวกาศ ดวงดาวที่มนุษย์เดินทางไปถึงไม่มีชื่อเรียกตายตัวแบบใน Alpha Centauri (สุ่มชื่อดาวไปเรื่อยๆ) เมื่อเดินทางถึงเป้าหมายแล้ว มนุษย์แต่ละกลุ่มก็แยกย้ายกันไปตั้งรกรากบนทวีปต่างๆ ของดาวดวงนี้ Beyond Earth ทิ้งระบบ "ชาติ" แบบดั้งเดิมใน Civilization และเปลี่ยนเป็นระบบ "เผ่า" ที่เป็นการรวมเชื้อชาติแบบหลวมๆ แทน เช่น Pan-Asian Cooperative รวมชาติเอเชียตะวันออก, Franco-Iberia ชาติพันธุ์สเปน-ฝรั่งเศส, Slavic Federation ชาวสลาฟในรัสเซียและยุโรปตะวันออก โดยมีให้เลือกทั้งหมด 8 เผ่า ความแตกต่างของแต่ละเผ่ามีแค่โบนัสพิเศษที่แตกต่างกันไปตอนต้นเกม อย่างไรก็ตาม ใน Beyond Earth ก่อนที่ผู้เล่นจะ "แลนดิ้ง" ลงสู่ดาวเคราะห์เพื่อเริ่มเกม ก็สามารถปรับแต่งวิธีการเริ่มเกมที่ต้องการได้ เช่น เริ่มเกมโดยมีนักสร้างอาณานิคม หรือ เริ่มเกมโดยมียูนิตทหาร ตรงนี้จะแตกต่างจาก Civilization ภาคหลักเล็กน้อยเพราะโบนัสเหล่านี้จะผูกกับชาติแต่ละชาติอย่างตายตัว ซ้าย: ผู้นำเผ่าอเมริกาเหนือ American Reclamation Corporation, ขวา: ผู้นำเผ่าออสเตรเลียและหมู่เกาะแปซิฟิก Polystralia (ประเทศไทยอยู่ในเผ่านี้) แนวคิดเรื่องเผ่าของ Beyond Earth จะคล้ายกับ Alpha Centauri ที่ไม่เรียกชาติในความหมายดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม การออกแบบเผ่าของ Beyond Earth กลับไม่ค่อยโดดเด่นและไม่น่าจดจำมากนักเมื่อเทียบกับ Alpha Centauri ที่แต่ละเผ่ามีแนวทางเฉพาะของตัวเองมากๆ (เช่น เน้นศาสนา, เน้นการค้า, เน้นสงคราม, เน้นสิ่งแวดล้อม) Civilization V ในร่างใหม่ เมื่อเราแลนดิ้งลงสู่ผิวดาวเคราะห์แล้ว จะเป็นการตั้งเมืองหลวงแห่งแรก รูปแบบของเกมจะเหมือนกับ Civ V แทบทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตารางแบบ 6 เหลี่ยม (ที่ใช้มาตั้งแต่ภาค V) การสร้างยูนิตหรือสิ่งปลูกสร้าง การสำรวจ การจัดสรรทรัพยากร ฯลฯ จนพอจะเรียกได้ว่าเป็นการนำ Civ V มาใส่สกินเป็นชาวอวกาศด้วยซ้ำ (เอนจินเกมก็ย่อมเป็นเอนจินเดิม) เมื่อรูปแบบการเล่นเกมแทบเหมือนเดิมทั้งหมด ผู้ที่เล่น Civ V มาแล้วคงปรับตัวได้ไม่ยากนัก สิ่งที่ลำบากหน่อยคงเป็นแค่การเรียนรู้ชื่อยูนิต ชื่อสิ่งปลูกสร้าง ชื่อทรัพยากรแบบใหม่ๆ ที่มาแทนของเก่า และใช้ชื่อแบบไซไฟพิสดารที่ไม่สามารถเดาได้ง่ายๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ การใช้ระบบของ Civ V ถือว่ามีข้อดีตรงที่ผู้เล่นหน้าเก่าสามารถทำความคุ้นเคยได้ง่าย มันยังถือเป็นระบบที่ลงตัวและลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว มีความสมดุลสูง แต่จุดอ่อนคืออาจขาดความแปลกใหม่ในระดับที่สมเป็น "เกมภาคหลักภาคใหม่" อยู่บ้าง ซึ่งทีมงาน Firaxis ก็พยายามปรับเปลี่ยนระบบเกมบางจุดให้ต่างไปจากของเดิมในบางประเด็น (แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก) โลกของเอเลี่ยน อย่างแรกสุดที่ผู้เล่น Beyond Earth จะได้พบคือสภาพแวดล้อมของโลกต่างดาวนั้นโหดร้ายกว่าบนโลกมาก มีพื้นที่ภูเขาหรือแผ่นดินแยกอยู่หลายจุด จะหาที่ราบใหญ่ๆ แบบ Civilization ภาคปกติได้ยาก นอกจากนี้โลกต่างดาวยังมีพื้นที่เป็นพิษ (miasma) ที่เดินเหยียบแล้วพลังลด และ "เอเลี่ยน" สัตว์ประหลาดต่างดาวที่โผล่มาตลอดเกม ตรงนี้ต่างไปจากเผ่า "คนเถื่อน" (Barbarian) ในเกมภาคปกติที่จะมายุ่งกับเราในช่วงแรกๆ ของเกมเท่านั้น ภาพตัวอย่างเอเลี่ยนประเภทแมลง และพื้นที่ miasma ที่เห็นเป็นสีฟ้าในมุมซ้ายบน Beyond Earth ยังมีเอเลี่ยนตัวใหญ่อย่างหนอนยักษ์ Siege Worm (แน่นอนว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Dune) ที่โผล่มาตอนแรกๆ ตบทีเดียวเราตาย ด้วยภูมิศาสตร์ของโลกต่างดาวที่แตกต่างไปจากโลกมนุษย์ ทำให้การเล่นเกม Beyond Earth นั้นผู้เล่นต้องแบ่งเวลามาจัดการกับเอเลี่ยนและพื้นที่เป็นพิษมากกว่าเดิม ส่งผลให้รูปแบบการเล่นต่างไปจากเดิมบ้างเล็กน้อย Affinities และ Tech Web ของใหม่อีกอย่างใน Beyond Earth คือระบบความเชื่อที่เรียกว่า Affinities (คล้ายกับ Ideology ใน Civ V) โดยระบบนี้จะคอยกำกับเป้าหมายของเราในระยะยาว เพราะมีผลต่อวิธีการจบเกม เนื้อเรื่องใน Beyond Earth จะกำหนดให้มนุษย์มีแนวทางการดำรงชีวิต 3 แบบคือ Harmony อยู่ร่วมกับเอเลี่ยนต่างดาวอย่างสงบสุข Purity ยึดความเป็นมนุษย์โลกแบบดั้งเดิมไว้ Supremacy เน้นเทคโนโลยีและการรวมร่างกับหุ่นยนต์เพื่อพัฒนาเผ่าพันธุ์ตัวเอง เมื่อเกมค่อยๆ ดำเนินไป ผู้เล่นจะต้องเลือกว่าตัวเองสนใจมุ่งไปในทิศทางไหนผ่านการวิจัยเทคโนโลยีและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งก็อาจสร้างความขัดแย้งกับเผ่าอื่นที่เลือก Affinities แตกต่างกันไปด้วย เช่น ถ้าเราเลือกสาย Supremacy ที่เน้นสร้างอาวุธมาถล่มเอเลี่ยน ก็จะโดนเผ่าที่เลือก Harmony ด่าเอาได้ รายละเอียดเรื่อง Affinities อยู่ในคลิปช่วงนาทีที่ 4:07 การเลือก Affinities จะมีผลต่อรูปแบบของสิ่งปลูกสร้างและยูนิตในเกม เช่น ถ้าเลือก Harmony ยูนิตของเราจะหน้าตาออกแนวชีวภาพ ในขณะที่แนวทาง Supremacy จะเป็นหุ่นยนต์และเครื่องจักร ระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน Beyond Earth คือยูนิตรบบางตัวจะสามารถอัพเกรดความสามารถได้เรื่อยๆ ตามคะแนน Affinities ที่เพิ่มขึ้น แถมการอัพเกรดจะเป็นไปอัตโนมัติกับยูนิตทุกตัวที่เรามีในครอบครอง ไม่ต้องมานั่งไล่อัพเกรดเพิ่มเองเหมือนเกมภาคปกติ จากภาพเป็นตัวอย่างยูนิต Soldier ของสาย Supremacy ที่อัพเกรดได้ 4 ครั้งจนไปถึง Affinities ระดับ 14 วิธีการเก็บค่า Affinities โดยหลักแล้วมาจากการวิจัย ซึ่งในเกม Beyond Earth ได้ปรับแผนผังเทคโนโลยีจากเดิม Tech Tree พัฒนาเทคโนโลยีสู่อนาคตจากซ้ายไปขวา กลายมาเป็น Tech Web ที่เลือกสายการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นวงกลมได้อย่างอิสระ ช่วยให้เกมดูหลากหลายมากขึ้น (และชวนงงมากขึ้นในตอนแรกๆ เพราะไม่รู้จะเลือกพัฒนาอะไรดี) สิ่งที่น่าสนใจคือ Tech Web ถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถวิจัยเทคโนโลยีได้ทุกประเภทในหนึ่งเกม บีบให้ผู้เล่นต้องคิดว่าจะเลือกพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไร โดยต้องคำนึงว่าจะสอดคล้องกับ Affinities ของตัวเองด้วย ดาวเทียม ของใหม่ซิงๆ ของเกมภาคนี้คือระบบดาวเทียมหรือ Orbital Unit ครับ มันเป็นการสร้างยูนิตพิเศษที่ยิงขึ้นฟ้าเพื่อให้ค่าโบนัสบางอย่างกับเรา เช่น เก็บพลังงานได้มากขึ้น เพิ่มอัตราการผลิตอาหาร ไล่เอเลี่ยนออกจากรัศมี หรือแม้กระทั่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม Orbital Unit ต้องสร้างขึ้นเหมือนกับยูนิตทางบกตามปกติ แต่ไม่สามารถนำไปเดินไปมาได้ ต้องสั่งยิงขึ้นฟ้าเท่านั้น เมื่อเราสั่งยิงดาวเทียมแล้ว เกมจะแสดง "เลเยอร์" อีกระดับหนึ่งแยกจากเลเยอร์ทางบกปกติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะวางตำแหน่งของดาวเทียมไว้อย่างไรบ้าง (ห้ามทับกัน) ถือเป็นความแปลกใหม่อีกประการหนึ่งของเกมภาคนี้ Beyond Earth ยังมีระบบเก็บค่าวัฒนธรรมเช่นเดิม แต่ปรับรูปแบบของโบนัส (ที่เรียกว่า Virtues) เล็กน้อย โดยผู้เล่นสามารถเลือก Virtues สายใดก็ได้ และถ้าเรียงคะแนน Virtues ต่อกันในแนวตั้งหรือแนวนอน ก็จะได้โบนัสเพิ่มเติมอีกต่างหาก มุ่งสู่ชัยชนะ Beyond Earth มีวิธีเอาชนะเกมทั้งหมด 5 แบบ (ไม่รวมการเล่นจนครบ 500 เทิร์นแล้วมาคิดคะแนน) ได้แก่ Domination ปราบเมืองหลวงของคู่แข่งให้หมด เป็นวิธีเอาชนะแบบบ้าพลังตามปกติ Contact เป็นวิธีการเอาชนะแบบมาตรฐาน ใช้ได้กับทุก Affinities คือค้นพบร่องรอยของเอเลี่ยนทรงภูมิปัญญาบนดาวดวงนี้ และหาวิธีติดต่อกับเอเลี่ยนโดยสร้างสิ่งมหัศจรรย์และสะสมพลังงานตามที่กำหนดก็จะจบเกมได้ (ชื่อ Contact มาจากภาพยนตร์เรื่อง Contact) Transcendence วิธีชนะสำหรับสาย Harmony สร้างสิ่งมหัศจรรย์เพื่อหลอมรวมตัวเองเข้ากับดาวดวงนี้ Promised Land สำหรับสาย Purity สร้างประตูวาร์ปเพื่อนำคนจากโลกมาตั้งรกรากบนดาวดวงนี้ Emancipation สำหรับสาย Supremacy สร้างประตูวาร์ปแล้วส่งกองทหารตามจำนวนที่ระบุกลับไปยึดโลก ตัวอย่างประตูวาร์ปของสาย Supremacy หน้าจอชัยชนะ ยังมีปุ่ม One more turn เช่นเดิม สรุป Civilization: Beyond Earth เป็นเกมที่สนุกตามมาตรฐานค่าย Firaxis แต่โดยรวมแล้วมี "ความสดใหม่" น้อยไปสักนิดถ้าเรามองว่ามันเป็นเกมภาคหลักภาคใหม่ เพราะมันแทบจะยกเอนจินทั้งหมดของ Civ V มาเปลี่ยนหน้าตาให้เป็นยุคอวกาศ และปรับระบบการเล่นเกมบางส่วนไปเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นถ้าหากมองว่ามันเป็นเกมภาคเสริมภาคใหม่ของ Civ V มันคงถือเป็นเกมที่ดีมาก แต่ในเมื่อต้นสังกัด Firaxis มองว่ามันเป็นเกมภาคใหม่ (แถมคิดราคาเต็ม) ความดีงามเฉพาะตัวของมันจึงลดลงไปอย่างน่าเสียดาย สำหรับแฟนๆ Civilization แล้ว Beyond Earth ถือว่าเล่นได้เพลินๆ แต่ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้ชื่อสิ่งของต่างๆ ในเกมนานสักหน่อย ส่วนแฟนๆ Alpha Centauri ที่ประทับใจกับเกมเมื่อครั้งอดีตแล้วอยากเห็นภาคต่อที่สืบทอดแนวทางของเกมนี้มาอีกครั้ง ก็ต้องบอกเสียตั้งแต่ต้นว่าคุณจะผิดหวังกับ Beyond Earth เพราะมันให้ความรู้สึกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงครับ Civilization, Games, Review