หนังสือพิมพ์ Financial Times มีบทสัมภาษณ์ Larry Page ซีอีโอของกูเกิลอย่างละเอียด โดย Page เล่าเบื้องหลังการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ และเป้าหมายของกูเกิลในอนาคต Page ยืนยันว่าเพิ่มอำนาจให้ Sundar Pichai ดูแล "ธุรกิจปัจจุบัน" ของกูเกิล เพื่อให้ตัวเขาเองว่างพอที่จะคิดถึงแผนการของกูเกิลในอนาคต เป้าหมายหลักของกูเกิลคือการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม (societal goal) ซึ่งในแง่นี้เขามองว่ากูเกิลยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจำเป็น เขาบอกว่าภารกิจเดิมของกูเกิลในการจัดระเบียบสารสนเทศของโลก (organise the world’s information and make it universally accessible and useful) อาจเล็กเกินไปแล้ว กูเกิลจำเป็นต้องมีภารกิจใหม่ที่เขากำลังใช้เวลาครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่ ยุทธศาสตร์ของกูเกิลคือนำเงินมหาศาลที่กูเกิลได้จากธุรกิจโฆษณา มาลงทุนในอุตสาหกรรมที่น่าจะเติบโตในอนาคต เช่น เทคโนโลยีชีวภาพหรือหุ่นยนต์ ปัจจุบันกูเกิลกำลังทดลองบุกเบิกอุตสาหกรรมที่อยู่ตรงชายขอบ (fringe) ซึ่งหมายถึงวงการที่สามารถนำเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาได้ แต่กลับยังไม่ค่อยมีคนสนใจทำเรื่องนี้มากนัก ตัวอย่างเช่น โครงการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ อาการป่วยของคนชรา เขาบอกว่า Silicon Valley กำลังอยู่ในช่วงขาลง สถานการณ์ไม่ถึงกับล่มสลาย แต่ไม่มีคนสนใจกล้าบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ มากนัก นักลงทุนส่วนใหญ่มักสนใจหากำไรจากบริษัทอินเทอร์เน็ต แต่มีนักลงทุนไม่เกิน 50 รายที่กล้าทุ่มเงินสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีโอกาสพลิกโลกและสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน สิ่งที่วงการเทคโนโลยีในปัจจุบันยังขาดไม่ใช่เงินหรือความรู้ทางเทคนิค แต่เป็นความทะเยอทะยาน (ambition) ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก เขาบอกว่าสุดท้ายแล้วต้องมีใครสักคนมาแก้ปัญหาเหล่านี้ และกูเกิลเป็นหนึ่งในนั้น กูเกิลมีทรัพยากรเยอะพอสำหรับทดลองบุกเบิกอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี แนวทางของกูเกิลคือแตกบริษัทลูกหรือหน่วยงานอิสระในแต่ละวงการ เช่น Nest, Calico และ Google X ที่มอบหมายให้ Sergey Brin ดูแล บุคคลต้นแบบของ Page คือ Warren Buffett นักลงทุนชื่อดัง ที่มองภาพในระยะยาวและมีความอดทนอย่างสูงต่อการลงทุนของเขาเอง ที่มา - FT.com Larry Page, Google,