อัดงบ2แสนล.อุ้ม'ข้าว-ยา'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    รัฐบาลเตรียมใช้เงินกว่า2แสนล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร แย้มครึ่งหนึ่งสำหรับสินค้าเกษตรอย่าง "ข้าว-ยางพารา"

    นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มต่างๆ ผ่านทั้งการช่วยเหลือทางตรงและทางอ้อม โดยการช่วยเหลือทางตรงจะดำเนินการผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาและยางพารา ในจำนวนนี้จะใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จะเป็นการช่วยเหลือทางอ้อม ผ่านการชดเชยดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อ หรือการลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆ

    นายสมหมาย กล่าวเรื่องนี้ระหว่างมอบเงินช่วยเหลือชาวนาในโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) โดยการจ่ายเงินดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในวงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกร

    สำหรับความคืบหน้าของจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนานโยบายของรัฐบาลไร่ละ 1,000 บาทนั้น ล่าสุดยอดการจ่ายเงินอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสามารถทยอยจ่ายเงินทั้งจำนวน 4 หมื่นล้านบาทได้หมดภายในเดือน ธ.ค.

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า วงเงินช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว รัฐบาลโดย ธ.ก.ส.จะได้ดำเนินการผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีในปีการผลิต 2557/58 วงเงินรวม 34,788 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ถึงวันที่ 30 ก.ย.58 และชำระเงินกู้ภายใน 4 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้

    ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป็นสินเชื่อช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขาย โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน โดยสามารถนำผลผลิต คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 90%ของราคาตลาด วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งภาระต้นทุนดอกเบี้ยนั้น ทางรัฐบาลจะชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส.

    นอกจากนี้ ภายใต้วงเงินสินเชื่อชะลอขายข้าวดังกล่าว ธ.ก.ส.มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางและลานตากข้าว เพื่อให้เกษตรกรสามารถก่อสร้างและปรับปรุงยุ้งฉางและลานตากข้าวเปลือก โดยมีวงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรทั่วไปที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อรายย่อย (MRR ) หรืออัตรา 7% ต่อปี ส่วนสถาบันเกษตรกรให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ( MLR) หรือ 5% ต่อปี

    โดยสินเชื่อสำหรับปรับปรุงยุ้งฉางหรือลานตากข้าวให้ชำระ 10 ปี จากเดิม 5 ปี ส่วนการสร้างยุ้งฉางและลานตากข้าวใหม่ ให้เวลาชำระคืน 10 ปี โดยจะเปิดให้กู้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.58 และให้กู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและตากข้าวให้แห้ง วงเงินไร่ละ 2,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน วงเงินรวม 9,048 ล้านบาท

    มั่นใจไทยแชมป์ส่งออกข้าวปี 58

    นายสมหมาย กล่าวอีกว่า ระยะต่อจากนี้ไป ราคาข้าวในประเทศจะปรับสูงขึ้น และไทยจะเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกข้าวและยางพาราในปีหน้า โดยในส่วนของราคาข้าวที่เชื่อว่าจะปรับสูงขึ้นนั้น เพราะมีดัชนีชี้วัดหลายด้าน หนึ่งในนั้น คือ พ่อค้าข้าวรายใหญ่ได้ส่งสัญญาณผ่านการขอสินเชื่อเพื่อซื้อข้าว เพราะเชื่อว่าราคาข้าวจะปรับสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิจะได้ราคาที่ 16,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกอย่างแน่นอน

    "ข้าวที่ว่าราคาจะดีขึ้นนั้น จะเป็นส่วนของข้าวที่ผลิตใหม่ ส่วนข้าวเก่าในสต็อกที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ก็ต้องบริหารจัดการกันไป ซึ่งก็คงไม่ได้ราคาเท่าข้าวใหม่" เขากล่าว

    กรุงเทพโพลล์คาด กนง.คงดอกเบี้ย

    ขณะที่ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ ได้เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 64 คน เรื่อง "ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อการเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท." ทำการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 9 -21 ต.ค.ที่ผ่านมา

    ผลสำรวจพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 78.1% เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ ธปท.) ที่จะให้เปลี่ยนการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) โดยไปใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) แทนการใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในปี 58 ขณะที่ 12.5% ไม่เห็นด้วย

    กลุ่มตัวอย่าง 43.8% ยังเห็นว่า ธปท.ควรตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกิน 3.0-4.0%

    ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ได้เสนอกรอบนโยบายการเงินปี 58 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยจะเปลี่ยนเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน มาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป แทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้ในปัจจุบัน เพราะเห็นว่าการใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากมีการรวมราคาพลังงานและอาหารสดเข้าไปด้วย

    ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ 76.6% คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2% ในการประชุมวันที่ 5 พ.ย.นี้ โดยมีเพียง 7.8% ที่เห็นว่า กนง.จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ 6.3% เห็นว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

    ผลสำรวจ ยังพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำให้กับรัฐบาล โดย อันดับแรก ให้เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแผนลงทุนที่ชัดเจนอยู่แล้ว รองลงมา เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น และควรสร้างงาน ลดรายจ่ายให้กับประชาชน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้น

    Tags : นายสมหมาย ภาษี • ข้าว • ยางพารา • กระทรวงการคลัง • ส่งออก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้