'พิรงรอง' ชี้ ไทยยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ และถูกมองว่าเป็นประเทศที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ขณะที่ คณาธิป ชี้ไทยสิทธิรัฐตรวจข้อมูลส่วนตัว ปชช.เพื่อมั่นคง ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา เรื่อง กฎหมายกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ว่า คำนิยามของสิทธิส่วนบุคคล คือการจัดระเบียบสังคมที่เอื้อให้บุคคลสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในส่วนของกฎหมายเกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคล มีทั้งในรูปแบบของกฎหมายมหาชนและข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่มีกฎหมายดังกล่าวนั้นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่ถูกควบคุมโดยรัฐ เพราะรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้ ซึ่งในหลายประเทศ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ซึ่งสิทธิส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ อาจารย์คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวในการเสวนา กฎหมายกับความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ว่า ประเทศไทย ให้สิทธิรัฐเข้ามาควบคุมและตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้ผ่านกฎหมายเฉพาะต่างๆ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ซึ่งปัจจุบันในโลกออนไลน์ มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคลลเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการตลาดและการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ คนบางกลุ่มยังตั้งตนเป็นผู้ตรวจสอบนำเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ทั้งเพื่อชื่นชมและเพื่อวิจารณ์ และสืบค้นข้อมูลของผู้อื่นมาเผยแพร่ โดยไม่คำนึงว่า บางกรณีไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยมักจะเชื่อข้อมูลในโลกออนไลน์ทันทีโดยไม่ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม อ.คณาธิป กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัว เนื่องจากไม่สามารถระบุถึงบรรทัดฐานในการตรวจสอบได้