แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไตรมาส3'ฟื้นช้า'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 1 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ธปท."รับเศรษฐกิจไทยไตรมาส3ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ชี้ผลการบริโภคยังอ่อนแอ ขณะที่ส่งออกต่ำเป้า ทั้งเบิกจ่ายลงทุนช้า

    ดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง "การลงทุน" และ "การบริโภค" ที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่ความเชื่อมั่นที่ฟื้นกลับมานี้ ยังไม่ส่งผลโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจจริง สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ยังฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2557 มีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า และไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วน โดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังถูกรั้งด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินธปท. กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการลงทุนภาครัฐที่มีออกมาต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะยังมีหลายส่วนที่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

    "ในไตรมาส 3 เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวแต่ยังช้ากว่าที่คาดไว้ แม้รัฐบาลมีการกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ยังถือว่าค่อนข้างช้า เพราะพึ่งเริ่มกระตุ้นอย่างจริงจังในช่วงท้ายไตรมาสที่ 3 การบริโภคยังไม่ปรับตัวที่ดีขึ้นเพราะมีตัวถ่วงหลายตัว ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีลักษณะของการผันผวนอยู่" นางรุ่งกล่าว

    นางรุ่ง กล่าวว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายที่ดีขึ้น โดยเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายไตรมาส แต่การเบิกจ่ายโดยรวมยังน้อย โดยเฉพาะงบประมาณการลงทุนที่ยังล่าช้า ในระยะถัดไป ธปท.คาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งการลงทุนให้มีมากขึ้นต่อเนื่อง

    ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้นตาม จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้นอกภาคการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และความเชื่อมั่นการอุปโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับสินค้าคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จากปัญหาโครงการรถยนต์คันแรก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

    นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรยังมีแนวโน้มต่ำลง จากสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งสถาบันการเงินยังเคร่งครัดการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ที่สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากกว่าปกติ

    ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม แต่ยังเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ โดย 9 เดือนแรกส่งออกติดลบ 0.7 % ยังคงอ่อนตัวลงตามความอ่อนแออุปสงค์จากต่างประเทศ อีกทั้งไทยยังมีข้อจำกัดด้านผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง

    โดยมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย.อยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2 % โดยสินค้าที่หดตัวนั้นคือกลุ่มรถยนต์ ลดลง 2.0 %เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในขณะที่สินค้าประเภทฮารด์ดิสไดร์ ปรับตัวลดลงแรง ถึง 22.7 % เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ผลจากการเร่งผลิตสินค้าในช่วงเดือนส.ค. ทำให้มีสต็อกคงค้าง

    ด้านการนำเข้าสินค้าในเดือน พ.ย.อยู่ที่ 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 10.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวด และมีสัญญาณที่ดีจากการนำเข้าเครื่องจักร และสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในระยะถัดไปได้ การลงทุนนั้นยังมีทิศทางทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งการลงทุนในภาคการก่อสร้าง และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ที่ต่ำกว่าปกติ

    ส่วนภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน และมาเลยเซีย ส่งผลให้ในเดือนก.ย.มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1.85 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.4 % แต่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ปรับตัวลดลง

    ด้านเสถียรภาพของประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงและจากมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์ ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และการส่งกลับกำไรจากเงินปันผลของผู้ประกอบการต่างชาติ

    ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลเนื่องจากสถาบันรับฝากเงินชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้น และนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อทำกำไร โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล สัดส่วนเงินระหว่างประเทศต่อหนี้สินระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง


    Tags : รุ่ง มัลลิกะมาส • ธปท. • เศรษฐกิจไตรมาส3

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้