ส่งออกวูบเหลือ0.1%-เบิกจ่ายงบรัฐช้า ฉุดเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ชี้ผลดีราคาน้ำร่วงทุก10% ดันเศรษฐกิจไทยโต0.45% สศค.ปรับเป้าเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 1.4% จาก 2% หลังส่งออกร่วงหนัก คาดโตได้เพียง 0.1% ขณะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ได้เพียง 50% แต่ปีหน้าจะขยายตัวได้ 4.1% ด้านนักวิเคราะห์ประเมินผลดีน้ำมันโลกร่วงหนัก คาดราคาลดทุก 10% ดันจีดีพีไทยโตได้ 0.45% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลง คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้เพียง 0.1% และการเบิกจ่ายภาครัฐจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่ การปรับลดประมาณการในครั้งนี้ของสศค.เช่นเดียวกับสำนักนักวิจัยอื่นและหน่วยงานภาครัฐ โดยขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตาตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ซึ่งจะประกาศในวันที่ 17 พ.ย.นี้ โดยมีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกสำนักวิจัยต่างมองกันว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ดี จากการลงทุนภาครัฐจะเริ่มส่งผลเต็มที่และการส่งออกเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสศค.กล่าวว่า สศค.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปีนี้ลงเหลือ 1.4% จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนก.ค.อยู่ที่ 2% ส่วนปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ประมาณ 4.1% สาเหตุที่สศค.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลง ปัจจัยหลักเป็นผลจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.1% จากคาดการณ์เดิมที่ขยายตัวได้ 1.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจภูมิภาคยุโรปฟื้นตัวเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีปลายปีนี้ได้ ก็มีการเบิกจ่ายได้ไม่มากนัก คาดงบกระตุ้นศก.เบิกได้แค่50% ทั้งนี้ สศค.คาดว่า เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา การเบิกจ่ายงบซ่อมสร้างจากงบไทยเข้มแข็ง รวมถึง การนำคูปองส่วนลดทีวีดิจิทัลมาใช้จ่าย จะมีการเบิกจ่ายได้มากสุด 50% ของวงเงิน หรือ คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้นที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐยังไม่สามารถประเมินได้ “ในช่วงครึ่งหลังของปีเราคาดว่า จีดีพีจะโตได้ 2.9% จากครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวติดลบ 0.1% เหตุผลสำคัญที่ครึ่งหลังของปีดีขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองมีทิศทางชัดเจนขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีคาดว่า จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย”เขากล่าว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ 2.1% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง ขณะที่ อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ คาดเศรษฐกิจปี58โต4.1% สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ที่คาดขยายตัวได้เฉลี่ยที่ 4.1% นั้น สาเหตุสำคัญจากการคาดการณ์การส่งออกที่จะขยายตัวได้ 3.5% ขณะเดียวกัน ยังได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ 2.2%ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มน้ำมันร่วง นายเดสมอนด์ ชัว นักวิเคราะห์ตลาดแห่งบริษัทซีเอ็มซีมาร์เกต กล่าวว่าราคาน้ำมันได้แรงหนุนระดับหนึ่งหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในแง่ดี ด้วยการระบุว่าสภาพในตลาดแรงงานกระเตื้องขึ้นมากและแสดงความวิตกเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ นายแดเนียล อัง นักวิเคราะห์การเงินแห่งบริษัทฟิลิปฟิวเจอร์ กล่าวว่านักลงทุนจับตารายงานปริมาณน้ำมันของสหรัฐที่มีการเปิดเผยออกมาเช่นกัน รายงานระบุว่าน้ำมันดิบสำรองเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 ต.ค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่ 3.1 ล้านบาร์เรล นายอังชี้ว่าแม้ตัวเลขจริงจะน้อยกว่าที่ประเมินไว้ แต่ก็ไม่ได้ภาพรวมเปลี่ยนแปลงไป เพราะสะท้อนถึงสถานการณ์การจัดหาที่ล้นเกินในสหรัฐ ชี้น้ำมันร่วง'ไทย-อินโดฯ'ได้ประโยชน์ นายกาเรธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิคส์กล่าวว่า ในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้ "ผู้บริโภคกำลังจะรู้สึกรวยขึ้น โดยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมีค่อนข้างมาก" "ราคาน้ำมันที่ร่วงลงจะเป็นปัจจัยบวกต่อภูมิภาคโดยรวม โดยอินโดนีเซียมีความโดดเด่น เพราะสองประเทศนี้จะได้ประโยชน์มากที่สุด" นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ดิ่งลง 25% สู่ระดับ 86 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมากสำหรับประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่จะส่งผลกระทบ แก่มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสุทธิน้ำมัน นายแอนโทนี จูด ที่ปรึกษาอาวุโสแผนกน้ำมันของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย กล่าวว่าราคาน้ำมันที่ร่วงลงทำให้บางประเทศ "มีโอกาสที่จะยกเลิกนโยบายให้เงินอุดหนุน" 'เมอร์ริลลินช์'ชี้ราคาร่วง10%ศก.ไทยโต0.45% แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ระบุว่า สำหรับไทย ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัวมานาน 1 ปี อันเนื่องจากภาวะปั่นป่วนทางการเมือง และการส่งออกที่ดิ่งลง ราคาน้ำมันที่ร่วงลง อาจจะหมายถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.45% สำหรับราคาน้ำมันที่ลดลงทุกๆ 10% นายสันติธาร เสถียรไทย จากเครดิต สวิส กล่าวว่า ไทยได้ใช้งบจำนวนมากในนโยบายอุดหนุนเช่นกัน และไทยจะพยายามเพิ่มรายได้ด้วยการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอีกครั้ง โดยที่ไม่ต้องปรับขึ้นราคาขายปลีก ซึ่งไทยอาจจะนำเงินที่ได้บางส่วน ซึ่งเทียบเท่ากับ 0.8% ของจีดีพี ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ Tags : สศค. • เศรษฐกิจไทย • จีดีพี