"สมหมาย" เผยแผนทยอยออกพันธบัตรอายุ30ปี วงเงินเฉลี่ย 10% ของภาระหนี้ แนะระบายข้าวควบคู่การตรวจสอบทุจริต "สมหมาย"ระบุ คนไทยจะใช้เวลาถึงรุ่นหลาน หรือกว่า 30 ปี ร่วมชดใช้ภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน แต่ไม่ถือเป็นภาระทางการคลังเทียบเท่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯเพราะมีขนาดเล็กกว่า 3 เท่า เผยแผนทยอยออกพันธบัตรอายุ 30 ปี วงเงินเฉลี่ย 10% ของภาระหนี้ แนะระบายข้าวควบคู่การตรวจสอบทุจริตเพื่อเร่งนำเงินมาชำระหนี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาภาระหนี้ที่เกิดในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อนนั้น อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปีกว่าหนี้ก้อนดังกล่าวจะหมด ซึ่งถือเป็นภาระที่ประชาชนผู้เสียภาษีต้องร่วมรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถือเป็นภาระทางการคลังมากเทียบเท่ากับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในส่วนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท เทียบเท่าประมาณ 3 เท่าของภาระหนี้ที่เกิดในโครงการจำนำข้าว ฉะนั้น จึงไม่ถือว่า เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่ ภาระหนี้ 1.4 ล้านล้านบาทของกองทุนฟื้นฟูฯที่เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจมีขนาดเล็ก จึงถือเป็นภาระทางการคลังจำนวนมาก ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้พยายามแก้ไขโดยการออกพันธบัตรระยะยาวอายุประมาณ 30 ปี แต่จะทยอยออกในสัดส่วนประมาณ 10% ของวงเงินหนี้ทั้งหมดในแต่ละครั้งซึ่งขึ้นอยู่กับจังหวะ โดยขณะนี้ สำนักงานบริหารหนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผน "ภาระหนี้ที่เกิดขึ้น เราทุกคนผู้เสียภาษีต้องใช้ ไม่เช่นนั้น สถานะของรัฐบาลก็เสียหาย ที่จะทำ คือ บริหารหนี้สั้นหนี้ยาวที่เกิดขึ้น เอามารวมกันและออกพันธบัตรในระยะเวลาที่เหมาะสมกับการสร้างตลาด จะเป็นหนี้ยาว 30 ปีก็ได้ อาจจะออกคราวละ 10% เพื่อให้ภาระเงินต้นและดอกเบี้ยลดลง โดยหนี้ก้อนนี้ อาจใช้เวลาชำระมากกว่า 30 ปี หรือถึงรุ่นหลานกว่าจะใช้หมด" นายสมหมาย กล่าวและว่า นอกจากนี้ การนำงบประมาณมาชำระหนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง โดยต้องเฉลี่ยงบประมาณมาชำระในแต่ละปีด้วย อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่กระทรวงการคลังกำลังเตรียมแนวทางในการชำระหนี้ กระทรวงการคลังก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการปิดบัญชีโครงการควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามหาแนวทางที่จะระบายข้าวเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่พบว่าปัญหามีความซับซ้อน เพราะประเภทของข้าวในโกดังนั้นยังมีความแตกต่าง ซึ่งมีทั้งข้าวที่ดีและไม่ดี ถ้าสรุปได้เร็วถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ด้านหนึ่งจะสามารถนำข้าวที่เสียหายไปทำเอทานอลได้ ขณะเดียวกัน ปัญหาการทุจริตในโครงการถือว่ายังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างมีหลักฐาน ทั้งสองประเด็นดังกล่าว รัฐบาลจะต้องดูแลอย่างระมัดระวัง ซึ่งตนเห็นว่ายังมีกลไกที่จะดำเนินการได้ ยกตัวอย่างกรณีของของกลางที่จับได้โดยกรมศุลกากรนั้น สามารถนำของกลางไปขายได้โดยที่กระบวนการฟ้องร้องยังดำเนินการอยู่ ฉะนั้น เรื่องของการขายข้าวในระหว่างที่ตรวจสอบทุจริตก็น่าจะดำเนินการได้ในลักษณะเดียวกัน Tags : นายสมหมาย ภาษี • กระทรวงการคลัง • ภาระหนี้ • ทุจริต • รัฐบาล • ข้าว