รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผย 20 สปช. เป็น กมธ.ยกร่าง รธน. เหมาะสม มองแนวคิด 'บวรศักดิ์' ดี พร้อมปัด 'พล.อ.ประวิตร' ไปจีนพบ 'ทักษิณ' พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า มีความเหมาะสมดี ส่วนกระแสข่าวที่ว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่ 1 จะเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้น มองว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นใครก็ได้เพราะผู้ที่เข้ามามีความเหมาะสมทุกคน ขณะเดียวกันมองว่า แนวคิดของ นายบวรศักดิ์ ในการนำคู่ขัดแย้งเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นแนวคิดที่ดี มีเหตุผล และทำให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังปฏิเสธถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปประเทศจีน ในวันศุกร์ที่ 31 ต.ค. นี้ ว่า ไม่ได้เป็นการเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน พร้อมกับย้ำว่า กระแสข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาล และ คสช. เนื่องจากทำให้ประชาขนเกิดความเข้าใจผิด 'อลงกรณ์' โต้สปช.ล็อก20กมธ. นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช. ชั่วคราว ระบุว่า การสรรหาบุคคลเพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. 20 คน เมื่อวานนี้ มองว่าเป็นภาพลักษณ์ใหม่ ที่มีความหลากหลายในด้านสาขาครบ 11 สาขา และระดับภาคครบ 4 ภาค อีกทั้ง ยังมีผู้หญิงกว่า 20% โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะมีเฉพาะนักกฎหมายและข้าราชการระดับสูง พร้อมยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเปกอย่างแน่นอน ขณะที่นักวิชาการหลายคนมองว่า สัดส่วน สปช. 20 คน เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ว่า มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้วนั้น ขออย่าคิดไปเอง เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้นและพิมพ์เขียวเป็นของประเทศ ไม่ใช่ คสช. อย่างไรก็ตาม การสัมมนาเพื่อหาข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่ได้หยิบยกเข้ามาในที่ประชุม โดยจะรอให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จก่อน 'มานิจ'หวังผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อในรธน.ฉบับใหม่ นายมานิจ สุขสมจิต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อมวลชน ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพควบคู่กับรับผิดชอบ ไม่ก้าวล้ำเสรีภาพของผู้อื่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องการให้เป็นหัวใจของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้มีการวางโครงการทำงานแล้ว และมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ในฐานะ เลขานุการวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า หลังจากได้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สปช. ก็จะเสนอกรอบในการทำงานของ กมธ.ยกร่างภายใน 60 วัน เพื่อให้ กมธ.ยกร่างไปใช้ในการยกร่าง อีก 120 วันต่อไป รวมถึงจะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อประสานงานและติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งคาดว่าการตั้งกรรมาธิการต่างๆ น่าจะเสร็จในสัปดาห์หน้าหลังจากกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ นำร่างข้อบังคับเข้าสู่ที่ประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อทำงานคู่ขนานกันต่อไป