ไทยขยับขึ้นอันดับ 26 ประเทศง่ายต่อการทำธุรกิจจากทั้งหมด 189 ทั่วโลก แนะปรับ 4 เรื่อง "ระยะเวลาอนุมัติทำธุรกิจ-ลดจำนวนครั้งเสียภาษี-บังคับใช้กฎหมายล้มละลายอย่างจริงจัง" ขณะสิงคโปร์ยังครองแชมป์ ขณะก.พ.ร.เร่งปรับปรุงบริการภาครัฐต่อเนื่อง นายคอนสแตนติน ชิโคซี่ ผู้จัดการด้านการปฏิบัติการโครงการ ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ในไทย กล่าวว่าผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2558 ของธนาคารโลกสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ วานนี้ (29 ต.ค.) อันดับของไทยดีขึ้น มีคะแนน 75.27 เนื่องจากปรับดีขึ้นหลายด้านจากทั้งหมด 10 ตัวชี้วัด ซึ่งช่วยให้ไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 26 จากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 28 และติดกลุ่ม 30 ประเทศแรกที่ง่ายต่อการทำธุรกิจจากการประเมินทั้งหมด 189 ประเทศ สำหรับ ดัชนีชี้วัดความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกทั้ง 10 ตัวประกอบด้วย 1.การขอใบอนุญาตก่อสร้าง 2.การขอใช้ไฟฟ้า 3.การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย 4.การบังคับใช้ข้อตกลง 5.การจดทะเบียนทรัพย์สิน 6.การขออนุญาตเริ่มต้นทำธุรกิจ 7.การขดสินเชื่อ 8.การเสียภาษี 9.การบังคับใช้กฎหมายล้มละลาย 10.กฎระเบียบการค้าข้ามประเทศ ทั้งนี้เวิลด์แบงก์จัดอันดับให้ไทยเพิ่มขึ้น เพราะไทยมีดัชนีชี้วัดที่ได้คะแนนติดอยู่ใน 30 อันดับแรกของทั้งหมด 189 ประเทศทั่วโลก 5 ด้าน คือการดำเนินการขออนุญาตในการก่อสร้างไทยได้คะแนน 88.77 สูงเป็นลำดับ 6 การขอใช้ไฟฟ้าได้คะแนน 91.71 สูงลำดับ 12 ขณะที่การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยได้คะแนน 65.83 สูงเป็นลำดับ 25 การบังคับใช้สัญญาข้อตกลงได้คะแนน 70.05 สูงเป็นลำดับ 25 การจดทะเบียนทรัพย์สินได้คะแนน 83.04 สูงเป็นลำดับ 28 นอกจากนี้ไทยได้ปรับปรุงการใช้เวลาในการดำเนินการขออนุญาตในการก่อสร้างลดลง ด้วยการใช้ช่องทางพิเศษอนุมัติการก่อสร้างอาคารขนาดเล็ก สิงคโปร์รั้งแชมป์ทำธุรกิจง่ายสุด ในรายงานการจัดอันดับครั้งล่าสุดของธนาคารโลก ระบุว่ายังคงให้สิงคโปร์ได้คะแนน 88.27 อยู่อันดับ 1 จากการประเมินประเทศที่ง่ายและสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ ตามด้วยนิวซีแลนด์อันดับ 2 ฮ่องกงอันดับ 3 มาเลเซียอันดับที่ 18 และไต้หวันกับจีนอยู่อันดับ 19 นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าไทยอันดับดีขึ้น เนื่องจากได้ปรับปรุงบริการภาครัฐช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลดีแก่ผู้ประกอบการ เพราะมีกฎระเบียบข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามน้อยลง มีเวลาและทรัพยากรเพื่อการทำธุรกิจมากขึ้น "ไทยเป็นกรณีศึกษา ที่ทำให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมทำธุรกิจได้ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้การส่งออกนำเข้าสะดวกมากขึ้น เนื่องจากการใช้เอกสารและเวลาน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2550" แนะปรับ4ด้านช่วยอันดับไทยดีขึ้น ด้านนายชิโคซี่ แนะนำว่าหากไทยต้องการให้อันดับล่าสุดที่ 26 ขยับขึ้นไปอีก ภาครัฐต้องมุ่งเน้นการปฏิรูป 4 เรื่องที่ทำให้ดีขึ้นได้อีก ในส่วนแรกเป็นการขอสินเชื่อ ซึ่งเห็นว่าไทยควรมีการจัดตั้งเครดิตบูโรของภาครัฐขึ้นมาเพิ่มเติมนอกเหนือจากเครดิตบูโรที่เป็นของภาคเอกชน โดยในส่วนนี้ไทยมีคะแนนสูงอยู่อันดับ 89 จากทั้งหมด 189 ประเทศ เรื่องที่สองเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจไทยตอนนี้ต้องใช้เวลา 27.5 วันกว่าจะทำได้ แต่เมื่อใช้วิธีประเมินความแตกต่างหรือช่วงห่างของคะแนน นิวซีแลนด์ซึ่งอยู่อันดับต้นๆทำคะแนนส่วนนี้ได้มากที่สุดเพราะการเริ่มต้นทำธุรกิจสามารถเดินเรื่องเสร็จภายในครึ่งวัน หากไทยลดเวลาดำเนินการได้จะช่วยลดเวลากับค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนได้ ส่วนที่สามเป็นขั้นตอนการเสียภาษี ปัจจุบันบริษัทต้องเสียภาษีในแต่ละปีถึง 22 ครั้ง ใช้เวลาและเสียเวลามากกว่า 260 ชั่วโมงกับการกรอกแบบฟอร์มภาษี ซึ่งตรงนี้ควรทำให้ง่ายขึ้น ควรทำให้ประสิทธิภาพการจ่ายภาษีดีขึ้น โดยภาษีหรือเงินที่ได้ไม่ลดลง โดยบางประเทศที่ได้คะแนนจากส่วนนี้สูงสุดมีภาษีต้องเสียเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น สุดท้ายที่นายชิโคซี่ แนะนำคือการบังคับใช้กฎหมายล้มละลาย เป็นส่วนที่ไทยมีคะแนนน้อย 58.73 ทิ้งห่างและต่างกันถึง 40.2 คะแนนเมื่อเทียบกับฟินแลนด์ที่ได้อันดับต้นๆ การขอสินเชื่อคะแนนของไทยได้ 45 แตกต่างและห่างจากนิวซีแลนด์ถึง 55 คะแนน ในส่วนนี้ไทยต้องแก้ไขและนำมาปฏิบัติใช้ให้ได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้นายชิโคซี่เสนอว่าสหรัฐเป็นกรณีศึกษาที่ดีเรื่องแก้ไขกฎหมายล้มละลาย ซึ่งทีมงานธนาคารโลกก็พร้อมจะช่วยเหลือหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎหมายล้มละลายของไทย ด้วยการจัดสัมมนาผ่านสื่อข้ามประเทศเพื่อให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลรายละเอียดในการปรับปรุง อันดับติดอันดับ4ของเอเชีย ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกในไทย มองว่าหากเทียบการจัดอันดับครั้งล่าสุดของธนาคารโลกในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเป็นรองแค่สิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซีย อยู่อันดับ 4 ของเอเชีย ถือว่าเป็นอันดับค่อนข้างดี ทั้งนี้เมื่อดูดัชนีชี้วัดทั้ง 10 ด้าน พบว่ามีอยู่ 2-3 ด้านที่ไทยได้อันดับไม่สูง อย่างเช่นขั้นตอนการเสียภาษี บริษัทเอกชนและภาคธุรกิจต้องจ่าย 22 ครั้งต่อปี การใช้เวลากรอกแบบฟอร์มก็ค่อนข้างนาน ประเทศที่ได้อันดับดีๆเสียค่า 3-4 ครั้ง ไทยน่าจะทำให้จำนวนครั้งในการจ่ายลดได้ ถ้าใช้อินเทอร์เน็ตหรือไอทีเข้ามาช่วย ทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ตรงนี้จะช่วยเพิ่มอันดับให้ไทยในปีหน้าได้ ก.พ.ร.แจงเดินหน้าแก้ปัญหาต่อ ด้าน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชาการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่าการจัดอันดับครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องที่มีผลต่อการจัดอันดับ โดยเรื่องแรกเปลี่ยนการวัดพิจารณาจากระยะห่างของผลการพัฒนาประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐในแต่ละตัวชี้วัดเทียบกับประเทศดำเนินการดีที่สุด เรื่องที่สองเป็นการปรับขอบเขตการวัด 3 ด้าน คือ การได้ขอและรับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน และการแก้ปัญหาการล้มละลาย ทั้งนี้จากการประเมินพบว่าไทยมีระยะห่างของการพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานใกล้เคียงกับประเทศปฏิบัติได้ดีที่สุด ในด้านการขออนุญาตก่อสร้าง และการขอใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ยังมีบางด้านที่ไทยยังคงต้องพัฒนาการบริการให้มีระยะห่างที่ใกล้เคียงกับประเทศดำเนินการได้ที่สุด เช่น การขอและรับสินเชื่อ การแก้ปัญหาการล้มละลาย และการคุ้มครองผู้ลงทุน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา กฎหมาย กฎและระเบียบทั้งหมด เผยปรับปรุงบริการหน่วยงานรัฐต่อเนื่อง นางวรรณพร กล่าวว่าผลการจัดอันดับไทยปีนี้ ยืนยันได้ว่าหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการดำเนินการพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้างที่ทางกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักที่ทำให้ช่วงห่างของคะแนนไทยกับประเทศได้อันดับดีสุดมีน้อยที่สุด ได้ปรับปรุงมอบอำนาจให้สำนักงานเขตพิจารณาอนุญาตก่อสร้างตึกขนาดเล็กสูง 8 ชั้นลงมาได้ จากเดิมให้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทข้ามเขต ณ ศูนย์บริการของกรมแห่งใดก็ได้ทั่วประเทศ และรัฐบาลยังมีนโยบายหลายเรื่องที่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย เช่น ขยายนโยบายลดค่าธรรมเนียมโอนทรัพย์สินจาก 2% เหลือ 0.01% และการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% Tags : ก.พ.ร. • ธุรกิจ • ไทย • จัดอันดับ • ธนาคารโลก • ดัชนีชี้วัด • กิริฎา เภาพิจิตร • วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา