"เอสแอนด์พี" พร้อมปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย หากเสถียรภาพการเมืองถดถอย และรุนแรง และอาจปรับเพิ่ม หากคลี่คลายชัดเจน นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Standard and Poor’s (เอสแอนด์พี) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อย่างไรก็ดี ว่า S&P’s เห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นจุดอ่อนหลักของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลด้วย และผลจากความไม่แน่นอนดังกล่าวจึงเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการชุมนุมทางการเมืองได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการท่องเที่ยวของประเทศอย่างรุนแรง และถึงแม้ว่ากองทัพได้ประกาศกฎอัยการศึกในสัปดาห์นี้ แต่กองทัพยืนยันว่าไม่ได้เป็นการพยายามช่วงชิงอำนาจมาจากรัฐบาลที่ยังคงรักษาการอยู่ ในมุมมองของ S&P’s เห็นว่าการดำเนินการของกองทัพอาจช่วยให้สถานการณ์มีเสถียรภาพโดยการยับยั้งข้อขัดแย้งรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยได้มีการนำแกนนำทั้งสองฝ่ายมาเจรจาต่อรองร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขชั่วคราวเพื่อให้สามารถจัดการการเลือกตั้งได้อีกครั้ง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุน และส่งผลให้แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะใกล้ปรับลดลงด้วย ทั้งนี้ S&P’s ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของไทยในปี 2557 ไว้ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐ ซึ่งระดับรายได้นี้นับเป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะกลางแม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตในระดับเดียวกันกับในช่วงที่สภาวการณ์ทางการเมืองเป็นปกติ นอกจากนี้ S&P’s เห็นว่า ตัวชี้วัดด้านระดับรายได้ของประเทศไทย ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สาธารณสุข และการศึกษา ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพนี้ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ S&P’s ว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ ภาคการคลัง และภาคการเงินภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันไว้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้หากเสถียรภาพทางด้านการเมืองและสถาบันถดถอยลงไปมากกว่าที่ S&P’s สังเกตการณ์ไว้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง S&P’s มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และ S&P’s อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้อีกหากตัวชี้วัดด้านการคลังหรือด้านเศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน S&P’s อาจดำเนินการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือให้ประเทศไทยได้หากความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะช่วยให้ตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจและการเงินดีขึ้น โดย S&P’s มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากขั้วทางการเมืองหลักทั้งสองฝ่ายในประเทศไทยสามารถจัดการเจรจาหาข้อตกลงได้ในที่สุด Tags : เอสแอนด์พี • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ • เครดิต • ความน่าเชื่อถือ