บสย.รับประกันสินเชื่อต่ำเป้า

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 29 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    บสย.คาดผลงานปีนี้ต่ำเป้า ยอดค้ำประกันสินเชื่อใหม่ได้แค่ 6.1 หมื่นล้าน จากเป้าหมาย 1 แสนล้าน หลังเศรษฐกิจชะลอ

    นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบสย.ในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ คาดทั้งปีรับประกันสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ไม่เติบโต

    "สินเชื่อใหม่ทั้งระบบชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การรับประกันสินเชื่อของบสย.เติบโตน้อย ซึ่งบสย.ได้เคยคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอปรับลดเป้าในปีนี้ลง แต่ทางสคร.ยืนยันจะใช้เป้าเดิม ในปี 2558 จะกำหนดเป้าการรับประกันสินเชื่อไว้เท่าเดิม คือ 1 แสนล้านบาท"

    เขากล่าวต่อว่า บยส.เตรียมจะเปิดประเภทกิจการที่จะให้การค้ำประกันสินเชื่อใหม่ เน้นกิจการด้านนวัตกรรม โดย บสย.เตรียมจะขอทางกระทรวงการคลัง เพิ่มเพดานการค้ำประกันสินเชื่อในกิจการประเภทนี้ เป็น 50% ของสินเชื่อ จากปัจจุบันเพดานการค้ำประกันสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 30% เพื่อเพิ่มความมั่นใจและแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มากขึ้น

    ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและวางกรอบการส่งเสริม โดยบสย.ได้เชิญสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และสถาบันค้ำประกันสินเชื่อ เกาหลีใต้ (KOTEC) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ การค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มเอสอีในกลุ่มนวัตกรรม เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ในงานสัมมนาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในกลุ่มเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ และ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา

    “ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีข้อเสนอให้ทางบสย.และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่อง ติดเครดิตบูโร หรือเป็นเอ็นพีแอลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยทางบสย.ก็มีแนวคิดจะช่วยเหลือ โดยการเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ แต่จะช่วยเฉพาะรายที่ยังมีความสามารถในการดำเนินกิจการอยู่”

    นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้ทั้งปี บสย.จะจ่ายเงินชดเชยหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลให้กับธนาคารต่างๆ ประมาณ 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่จ่ายเงินชดเชยประมาณ 3 พันล้านบาท เป็นผลมาจากพอร์ตการรับประกันสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ขณะนี้สัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 5.2% ของพอร์ตทั้งหมด จากช่วงสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 4%

    “การจ่ายเงินเพื่อเคลียร์หนี้เสียให้กับทางธนาคารต่างๆ ไม่ได้อยู่ในระดับสูง เพิ่มขึ้นตามพอร์ตการรับประกันที่มีการเติบโต โดยแต่ละปีจะมีเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้อยู่แล้ว รวมปีละ 5-6 พันล้านบาท เงินในส่วนนี้ก็กันไว้สำหรับเป็นหลักประกันเคลียร์หนี้เสียอยู่แล้ว โดยบยส.ไม่ใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลกำไร แต่ก็ยังบริหารจัดการให้มีกำไรได้ ปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 350-400 ล้านบาท”

    ทั้งนี้บยส. เปิดประเภทกิจการที่จะรับประกันสินเชื่ออยู่ 4 ประเภท คือ 1.พีจีเอส วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท รับประกัน 18% ของสินเชื่อ ใช้ไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท 2.สินเชื่อเริ่มต้นกิจการ หรือ สตาร์ท อัพ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รับประกัน 37.5 % ของวงเงิน 80% ของพอร์ตสินเชื่อ 3. สินเชื่อไมโคร วงเงิน 5 พันล้านบาท รับประกัน 30% ของพอร์ตสินเชื่อ และ 3.สินเชื่อโอท็อป วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รับประกัน 25% ของพอร์ตสินเชื่อ

    Tags : วัลลภ เตชะไพบูลย์ • บสย. • สินเชื่อ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้