เสริมสุขขาย แบรนด์เอส ให้บริษัทลูกไทยเบฟ มูลค่า 1.56 พันล้าน ลดบทบาทเหลือรับจ้างผลิต-จัดจำหน่าย นักวิเคราะห์ลุ้นปีนี้พลิกกำไร หลังขายที่ดิน-แบรนด์เอส ขณะที่ผลประกอบการ 2 ปียังขาดทุน วงในระบุเป็นส่วนหนึ่งของการ "ปรับพอร์ตธุรกิจ" ตามนโยบายไทยเบฟ ก่อนรุกอาเซียน การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดน้ำอัดลม ทำให้ที่ผ่านมาแบรนด์น้ำอัดลมสัญชาติไทย "เอส" ของค่ายเสริมสุข ใต้ร่มเงาไทยเบฟ ต้องใช้งบการตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อ "แจ้งเกิด" แบรนด์ ล่าสุดได้พลิกวิกฤติ ด้วยการตัดขายเครื่องหมายการค้าเอส ให้กับบริษัทลูกไทยเบฟ เพื่อประคองภาวะสถานการณ์ทางการเงิน ไปพร้อมกับการ "ปรับพอร์ตธุรกิจ" ของไทยเบฟ นายสมชาย บุลสุข ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสุข (SSC) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้ขายเครื่องหมายการค้า "เอส" ให้แก่ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด (IBHL) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเสริมสุข ผ่าน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดตัวเครื่องหมายการค้า "เอส" ในเดือนพ.ย.2555 และเครื่องหมายดังกล่าวได้ใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาเป็นระยะเวลาประมาณ 24 เดือน ทั้งนี้ ณ ส.ค.2557 แบรนด์ "เอส" มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 12% ของตลาดเครื่องดื่มอัดลมทั้งหมด มูลค่าสินทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น 1,560 ล้านบาท ทั้งนี้ IBHL จะดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมเริ่มต้น (Upfront Payment) ในจำนวนซึ่งกำหนดเมื่อมีการเข้าทำสัญญาขายเครื่องหมายการค้า (เอส) โดยมีเงื่อนไข (Conditional Sale Agreement) ในช่วงปีที่สองถึงปีที่สาม ภายหลังจากการเข้าทำสัญญา เพื่อเป็นการตอบแทนจำนวนเงินที่บริษัทจะได้รับตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนเสริมสุข รับประกันการดำเนินการเกี่ยวกับการเป็นผู้ผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมาย "เอส" ในตลาดประเทศไทย นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ซื้อมีการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อจะชำระค่าพัฒนาพื้นที่ ให้แก่บริษัทในการที่บริษัทจะเข้าช่วยเหลือผู้ซื้อในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในตลาดใหม่ ซึ่งจำนวนเงินที่จ่าย ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาขายเครื่องหมายการค้า และเมื่อบรรลุเงื่อนไขดังกล่าว บริษัทจึงจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า "เอส" ให้แก่ผู้ซื้อ ลดบทบาทเหลือเป็นผู้ผลิต-จัดจำหน่าย "นอกจากขายเครื่องหมายการค้าโดยมีเงื่อนไขแล้ว บริษัทจะเข้าทำสัญญาผลิตและการจัดจำหน่ายสินค้ากับผู้ซื้อ หรือบุคคลที่ผู้ซื้อกำหนด โดยมีการชำระค่าตอบแทน ตามยอดจัดจำหน่ายที่เกิดขึ้นจริง" ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำรายการ บริษัทตระหนักว่าการสร้างแบรนด์ในธุรกิจต้องอาศัยระยะเวลาและใช้เงินลงทุนมาก ในการขายแบรนด์ครั้งนี้ทำให้บริษัทสามารถใช้เงินไปในการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถที่สูงสุด (best-in class) ในการขาย และการจำหน่าย ในขณะที่ยังคงรับผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องหมายการค้า "เอส" อยู่ต่อไป โดยไม่มีความจำเป็นต้องจัดสรรเงินลงทุนจำนวนมากในการสร้างแบรนด์ "เอส" แต่อย่างใด โดยผู้ซื้อแบรนด์มีความผูกพันที่จะต้องสร้างแบรนด์ ซึ่งจะทำให้บริษัท จะยังคงได้รับประโยชน์จากค่ารับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายตามสัญญา ตามปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น บริษัทจะใช้เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสินทรัพย์สำหรับเป็นทุนในการดำเนินงานและใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของกิจการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ศักยภาพในการจัดจำหน่ายและการผลิตของบริษัทฯ ทั้งนี้ กำหนดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 16 ธ.ค.2557 เพื่อขออนุมัติวาระดังกล่าว วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม 10 พ.ย. 2557 วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่มประชุม 11 พ.ย. 2557 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าประชุม 6 พ.ย. 2557 นักวิเคราะห์มองไทยเบฟ "จัดพอร์ตธุรกิจ" นางสาวนารี อภิเศวตกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีเสริมสุขขายแบรนด์เอส ให้กับ IBHL น่าจะเป็นการ "ปรับโครงสร้างทางธุรกิจ" ของกลุ่มบริษัท และประเมินว่าบริษัท เสริมสุข น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลง อย่างไรก็ตาม การลดบทบาทเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อ (โออีเอ็ม) นั้น อาจจะทำให้ "อัตรากำไร" ของบริษัทลดลง แต่เมื่อพิจารณาถึงงบการตลาดที่ลดลง เชื่อว่าคุ้มค่า ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกต ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า บริษัท เสริมสุข จะได้ประโยชน์จากการขายแบรนด์เอส มูลค่า 1.56 พันล้านบาท อาจทำให้บริษัทสามารถ "กลับมามีกำไรสุทธิ" ได้ในปีนี้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ บริษัทได้มีการขายที่ดิน 10 ไร่ 4 ตารางวา ในเขตคลองสาน (ท่าเรือเป๊ปซี่) มูลค่ากว่า 1.8 พันล้านบาท เขากล่าวอีกว่า ในส่วนของประโยชน์ด้านพื้นฐานธุรกิจ เชื่อว่าบริษัท เสริมสุข จะได้ประโยชน์มากกว่าไทยเบฟ เนื่องจากการขายแบรนด์ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดได้ และหันมาเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า แบรนด์เอส ยังมียอดขายที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาดอยู่ การต้องสร้างแบรนด์ควบคู่กับลงทุนด้านการผลิตอาจเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป แหล่งข่าวจากเสริมสุข กล่าวว่า การขายแบรนด์เอส ให้บริษัทลูกไทยเบฟ เป็นหนึ่งในการจัดทัพธุรกิจ เพื่อสร้างความคล่องตัวมากขึ้น โดยรายละเอียดของธุรกิจนายฐาปน จะเป็นผู้ให้ข้อมูลในงานไทยเบฟ เอ็กซโป 2014 ขณะเดียวกันเงินที่ได้จากการขายแบรนด์เอส เสริมสุขจะนำมาขยายกิจการในประเทศจัดพอร์ตธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้า ไทยเบฟจะให้ความสำคัญในการรุกตลาดเครื่องดื่มระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็น 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มเอเชียในปี 2563 ทุ่มงบตลาด 1.2 พันล.ผลักดันแบรนด์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสริมสุข แตกหักกับค่ายน้ำดำระดับโลก อย่าง “เป๊ปซี่” และหันซบอกขายหุ้นใหญ่ ให้กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ใน พ.ย. 2555 เสริมสุขก็เปิดตัวน้ำดำแบรนด์ “เอส” แบรนด์น้ำดำสัญชาติไทยแบรนด์แรก เข้าทำตลาดชิงเค้กน้ำอัดลมมูลค่าตลาดรวมราว 4.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าตลาดน้ำดำสูงถึง 80% หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 14 เดือนหลังจากนั้น เสริมสุข ทุ่มงบประมาณทำตลาดก้อนโตรวม 1,200 ล้านบาท ดึงพรีเซ็นเตอร์สุดฮอตสร้างการรับรู้ของแบรนด์อย่างหนัก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างปรากฏการณ์มากมาย ทั้งการทุบสถิติยอดขาย 4 ล้านลัง หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 6 สัปดาห์ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.5 ล้านลัง ยอดขายยังทะยานสู่ 4,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน และโกยยอดขาย 6,000 ล้านบาท ในปีแรก ที่สำคัญผู้บริหารเสริมสุข ยังระบุถึงการขึ้นแท่นเบอร์ 2 ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาด 19% เบียดพันธมิตรเดิมอย่าง เป๊ปซี่ ให้ตกไปอยู่อันดับ 3 ก่อนที่ล่าสุดส่วนแบ่งตลาดเอสจะลดเหลือ 12% ทั้งนี้ สิ่งที่สร้างความได้เปรียบให้แบรนด์ใหม่อย่าง “เอส” คือความแข็งแกร่งของเสริมสุข ที่ช่ำชองในการเป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า มีร้านค้าเครือข่ายมากกว่า 2 แสนจุดทั่วประเทศ รวมถึงเครื่องดื่มใน “ขวดแก้ว” ที่เป็นเหมือนหัวใจของการจำหน่ายผ่านร้านอาหารต่างๆ ระหว่างการตั้งไข่แบรนด์ใหม่ “เอส” เจริญ ยังไม่หยุดซื้อกิจการ โดยดีลสำคัญได้แก่ การซื้อกิจการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ในเอเชีย “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ” (เอฟแอนด์เอ็น) มูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาได้พยายามปรับพอร์ตสินค้าในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายจะนำสินค้าเอฟแอนด์เอ็น มาทำตลาดในไทย พ่วงไปกับการนำสินค้าแบรนด์ไทยใต้ร่มเงา ไปให้เอฟแอนด์เอ็นทำตลาด เนื่องจากพบว่ามีสินค้าหลายตัวที่ซ้ำซ้อน วงในระบุนำแบรนด์ "เอส" บุกอาเซียน ล่าสุด กับการตัดสินใจของไทยเบฟส่ง IBHL เข้าซื้อแบรนด์ “เอส” จากเสริมสุข วงในวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ ที่ “เอส” ซึ่งเสริมสุขทำคลอด จะกลายเป็นสินค้าเรือธง ที่ไทยเบฟ จะนำไปบุกตลาดน้ำดำในอาเซียน ท้าชิงแบรนด์ระดับโลก เนื่องจาก IBHL ถือว่ามีความชำนาญในการทำตลาดเครื่องดื่มทั่วโลก สำหรับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังแยกทางกับเป๊ปซี่ เสริมสุขยังเผชิญภาวะขาดทุน โดยปี 2556 ขาดทุน 328.53 ล้านบาท และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ขาดทุน 268.24 ล้านบาท Tags : เอส • เสริมสุข • อาเซียน • วงใน • เป๊ปซี่ • เจริญ สิริวัฒนภักดี • ฐาปน สิริวัฒนภักดี • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส • สมชาย บุลสุข