ทหารไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่น SME ไตรมาส 3 อยู่ที่ 38 แม้ปรับตัวดีขึ้นหลังการเมืองนิ่ง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยถึงการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 3/2557 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME กว่า 1,100 กิจการ ครอบคลุม 71 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.4 จุด โดยล่าสุดอยู่ที่ 38 เพิ่มขึ้นจาก 36.6 ในไตรมาสที่สอง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีกสามเดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 59.6 จุดจาก 55.7 จุดในไตรมาสก่อนหน้า และนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกและเป็นระดับที่สูงที่สุดในปีนี้ ขณะที่ปัจจัยทางด้านการเมืองที่เคยกดดันความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอีในขณะนี้ได้ปรับลดน้ำหนักลง โดยปรับลดลงเหลือ16.8 จาก 37.8 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะธุรกิจของตัวเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านรายได้ธุรกิจ จากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการในปัจจุบันที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี2556 จนเหลือ 42.1 ในขณะนี้ เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจและการแข่งขันในพื้นที่กลายมาเป็นความกังวลหลักแทนความวุ่นวายทางการเมืองที่ยุติลง ทั้งนี้หากพิจารณารายละเอียดแต่ละภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการในภาคตะวันออก และ เขตกรุงเทพและปริมณฑล มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 3 ที่สูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีในพื้นที่ดังกล่าว แต่ในทางกลับกัน ภูมิภาคที่มีการพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรมค่อนข้างมาก กลับมีระดับความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง โดยเอสเอ็มอีในภาคเหนือพึ่งพิงเม็ดเงินจากภาคเกษตร 31% ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23% ภาคใต้ 26% และมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรกรรมเกินกว่า 40% ของแรงงานทั้งหมด จึงจะเห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้ง 3 มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภาคที่มีการพึ่งพารายได้ภาคการเกษตรต่ำกว่า โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่าทุกภูมิภาค และยังเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานที่1.3% สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ “ ดัชนีความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอีในภาคเหนือลดลงมาอยู่ที่ 43 จาก 44.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 39.1 จาก 48.4 ภาคใต้อยู่ที่ 36.9 จาก 36.8 สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคขาดความเชื่อมั่น เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของธุรกิจ โดยปัจจัยหลักคือ ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับที่ต่ำเช่นยางพารา ข้าวและข้าวโพด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของเกษตรกรผู้เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในหลายๆภูมิภาค โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กหรือย่อมที่มีรายได้หลักจากภาคการเกษตร ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่กว่าจะสามารถกระจายความเสี่ยงไปพึ่งตลาดต่างประเทศได้” นายเบญจรงค์กล่าว นายเบญจรงค์กล่าวว่า ผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดน้อยลง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคน้อยลงไปด้วย โดยธุรกิจที่ค้าขายสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน เช่น ศูนย์จำหน่ายยานยนต์และจักรยานยนต์ เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ค้าในหมวดอื่นๆ ในขณะที่เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตร จะใช้จ่ายลงทุนซื้อหาปัจจัยการผลิตน้อยลงเช่นกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกษตร อาหารสัตว์ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ในพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐได้เร่งรัดออกนโยบายเพื่อบรรเทาการลดลงของรายได้เกษตรกรด้วยการให้เงินช่วยเหลือชาวนากว่า 4 หมื่นล้านบาทนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากเม็ดเงินยังน้อยเมื่อเทียบกับการชดเชยหนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวในช่วงก่อนหน้านี้ Tags : เบญจรงค์ สุวรรณคีรี • ทหารไทย • ดัชนีเชื่อมั่น • เอสเอ็มอี