เว็บไซต์ Ars Technica มีโอกาสนั่งคุยกับ Gabe Cohen, Dave Burke และ Brian Rakowski ผู้บริหารของทีม Android และได้ข้อมูลเชิงลึกของ Android 5.0 Lollipop มาหลายประเด็น กูเกิลใช้วิธีออก Android รุ่นพรีวิวเป็นครั้งแรกในรุ่นนี้ ซึ่งผลตอบรับดีมาก เพราะทีมงานได้ข้อมูลจากนักพัฒนากลับมาโดยตรงมากมาย (ตอนแรกทีมงานคาดว่า Lollipop จะมี API ใหม่ราว 5,000 ตัว สุดท้ายปรับแก้ไปมาจนจบที่ 7,000 ตัว) รวมถึงผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็น่าจะออกรอม Lollipop ได้รวดเร็วกว่าเดิมเพราะมีเวลากับมันนานขึ้น ทีม Android มีความเห็นว่าอยากใช้นโยบายออกรุ่นพรีวิวต่อไปในอนาคต พูดถึงการแยก WebView ไปใส่ใน Google Play Services ว่าเหตุผลสำคัญเป็นเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย เนื่องจากแอพใน Play Store ราว 70-80% เรียกใช้ WebView และเอนจิน Chromium เปลี่ยนรุ่นทุก 6 สัปดาห์ ในระบบเดิม ถ้าหากมีบั๊กหรือช่องโหว่ความปลอดภัยจะส่งผลกระทบมาก แต่กลับอัพเดตได้ยากเพราะผูกกับตัวระบบปฏิบัติการ การเปลี่ยนมาอัพเดตผ่าน Google Play Services ย่อมช่วยลดปัญหาความปลอดภัยลงได้มาก ของใหม่ใน Lollipop ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือซอฟต์แวร์เซ็ตอัพระบบเมื่อเปิดใช้เครื่องครั้งแรก กูเกิลออกแบบมันใหม่หมด รองรับการล็อกอินสองชั้น และสามารถอัพเดตตัวเองได้ทันทีเมื่อต่อเน็ต (ก่อนผู้ใช้กรอกรหัสผ่านด้วยซ้ำ) เพื่อตรวจสอบว่ากูเกิลเพิ่มฟีเจอร์หรือนโยบายอะไรใหม่บ้าง ตัวเซ็ตอัพยังมีฟีเจอร์ชื่อ Play Auto Install ช่วยติดตั้งแอพจาก Play Store ตามรายชื่อแอพของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ วิธีนี้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จึงไม่จำเป็นต้องพรีโหลดแอพไปกับรอม และสามารถเปลี่ยนแอพได้ตลอดเวลา (เช่น แอพบางตัวล้าสมัยหรือเลิกทำ ก็เอาออกได้ ไม่ต้องผูกติดกับรอมไปตลอด) แอพที่ติดตั้งด้วยวิธีนี้จะอยู่ใน data partition และผู้ใช้ลบออกได้เองง่ายๆ ด้วย ประเด็นส่วนของ Nexus Nexus 6 และ Nexus 9 ราคาแพงขึ้นเพราะตั้งเป้าจับตลาดพรีเมียมมากขึ้น กูเกิลยอมรับว่า Nexus 6 มีขนาดใหญ่และอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม แต่ก็หวังว่า Nexus 6 จะตอบโจทย์ในแง่การทำงานได้ทุกรูปแบบ ในสหรัฐ Nexus 6 จะวางขายแบบติดสัญญากับทุกเครือข่าย ผู้ซื้อ Nexus 6 แบบติดสัญญาจึงไม่ต้องจ่ายค่าเครื่องแพง อย่างไรก็ตาม กูเกิลก็ยอมรับว่าเครื่องแบบติดเครือข่ายจะได้อัพเดตช้ากว่าเครื่องเปล่าไม่ล็อคเครือข่ายอยู่ดี เพราะยังไงก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากเครือข่าย กูเกิลจะยังขาย Nexus 5 ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่ แต่ไม่ยอมบอกว่าจะขายต่อไปอีกนานแค่ไหน Nexus 6 ใช้ชิปดักฟังเสียงพูด Ti C55 ตัวเดียวกับ Moto X ทำให้สั่งงานด้วยเสียงได้แม้ปิดหน้าจออยู่ แต่ในแง่ซอฟต์แวร์ Lollipop ออกแบบให้ผู้ผลิตมือถือในอนาคตเลือกใช้ชิปได้ตามต้องการ (กูเกิลมี hardware abstraction layer ให้) ส่วนรูปแบบการใช้งาน Moto X ใช้ซอฟต์แวร์ของตัวเองดักเสียงพูดแล้วส่งคำสั่งต่อให้แอพ Google Search แต่กูเกิลใช้แอพ Google Search ตัวเดียวควบสองหน้าที่ ผลคือทำงานได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และลดโอกาสโดนดักข้อมูลกลางทางลง ที่มา - Ars Technica Lollipop, Android, Google, Nexus 6