ธปท.รับ'ส่งออก'ส่อติดลบ ฉุดเศรษฐกิจเสี่ยงต่ำ1.5%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 27 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "แบงก์ชาติ" ยอมรับส่งออกไทยส่อติดลบ ฉุดเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงโตต่ำ 1.5% แนะทำใจ ลุ้นปีหน้าโตได้ 4.8%

    หวังลงทุนรัฐเป็นตัวนำ ปลุกการลงทุน-บริโภคเอกชนฟื้น พร้อมจี้วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนส่งออกระยะยาว หลังไทยตกขบวนผลิตสินค้าเทคโนโลยีใหม่ ด้านนโยบายการเงิน ส่งสัญญาณ "คง" ดอกเบี้ยยาว

    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ส่งผลให้ภาคการส่งออกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ขณะที่การเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐซึ่งล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่าประมาณการที่ 1.5%

    นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงที่การเติบโตจะน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ 1.5% โดยมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การส่งออกที่อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และการเบิกจ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาด ส่งผลต่อภาพรวมการบริโภคที่ชะลอลง

    สำหรับการส่งออก เดิมที่ ธปท. เคยประเมินว่า ปีนี้อาจเติบโตได้ 0% หรือไม่เติบโตเลย แต่จากตัวเลขที่ ธปท. เห็นล่าสุด ทำให้สมมติฐานต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป โดยมองว่า การส่งออกไทยในปีนี้ มีความเสี่ยงที่จะติดลบสูง

    ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า รวมไปถึงโครงการรถไฟรางคู่นั้น นางผ่องเพ็ญ มองว่า มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้มาก เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นคงเห็นไม่ทันปีนี้ ดังนั้นจึงต้องทำใจว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะได้เพียง 1.5% หรือต่ำกว่านั้น ที่เหลือก็ต้องมาตั้งหลักในปีหน้า

    ลุ้นปีหน้าส่งออกโต4%

    สำหรับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งประเมินไว้ที่ 4.8% ถือเป็นตัวเลขที่ปรับลดจากเดิมที่เคยมองว่า จะเติบโตได้ถึง 5.5% โดยตัวเลขใหม่นี้อยู่บนสมมติฐานว่า การส่งออกจะขยายตัว 4% และการเบิกจ่ายของภาครัฐทำได้มากกว่าปัจจุบัน

    “ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ ในปีหน้า คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยจะต้องไม่เป็นเพียงแค่นามธรรมเท่านั้น แต่ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มประมูล การลงทุนจริง ตลอดจนการสื่อสารให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะตรงนี้เป็นตัวสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ผู้บริโภค ถ้าทำได้จะทำให้ความเชื่อมั่นต่างๆ เริ่มกลับมา รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนด้วย”

    การลงทุนภาคเอกชนยังมีความท้าทายอยู่บ้าง ตรงที่เวลานี้กำลังการผลิตของภาคเอกชนยังค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยเพียง 60% ของกำลังผลิตทั้งหมด หมายความว่าถ้าความต้องการเพิ่ม เอกชนยังมีกำลังผลิตเหลือพอจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ ดังนั้นการลงทุนเพิ่มอาจจะไม่ได้สูงมากยกเว้นในบางอุตสาหกรรมที่กำลังผลิตเริ่มเต็ม

    อีกประเด็นที่ ธปท.เป็นห่วงและติดตามมาตลอด คือ หนี้ครัวเรือน เพราะตัวนี้จะมีผลต่อการบริโภคค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมามาก แต่เป็นการเร่งตัวในส่วนของสินเชื่อรถยนต์ ซึ่ง ธปท. เองตั้งความหวังว่า ในปีหน้าเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น รายได้นอกภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น จะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนกลับมาดีขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องฝากความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐที่จะมีส่วนกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น

    จี้แก้ปัญหาส่งออกระยะยาว

    ส่วนการส่งออกนั้นต้องยอมรับว่า ขณะนี้เรามีปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะกลางถึงยาว โดยระยะสั้นเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลง แม้ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สามารถชดเชยกับราคาที่ลดลงมาได้

    สำหรับปัญหาระยะกลางถึงยาวนั้น ต้องยอมรับว่าสินค้าที่เราส่งออก เช่น สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเก่า ซึ่งเริ่มถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า จะปรับตัวไปสู่สินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ได้หรือไม่ และอย่างไร

    “ตัวที่เราพึ่งมากๆ คือ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แม้ว่าตอนนี้จะยังส่งออกได้ดีอยู่ แต่เป็นเพราะประเทศที่เขาเลิกผลิตเพื่อหันไปผลิตเทคโนโลยีตัวอื่นที่ทันสมัยกว่า ทำให้ประเทศที่ยังพอมีความต้องการสินค้าตัวนี้อยู่บ้าง หันมาสั่งซื้อจากเราแทน แต่ในอนาคตคลื่นลูกนี้ก็จะหายไป และมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทน”

    นอกจากนี้ยังมี สินค้าประเภทไอซี ซึ่งของเราแม้จะผลิตได้มาก แต่มูลค่าต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ประเทศอื่นเริ่มพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่า เพียงแต่การจะพัฒนาไปสู่การลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ต้องเกิดจากการลงทุน ช่วงหลังจะเห็นว่าประเทศในภูมิภาคเราทั้ง ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย เริ่มพัฒนาไปสู่การผลิตในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มากขึ้น ทำให้การส่งออกของเขาดีกว่าเรา

    “อันนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องไปดูว่า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่เรายังอยากแข่งขันหรือไม่ เพราะในเวลานี้เราช้ากว่าเขาแล้ว หรือเราจะไปเอาเซ็กเตอร์อื่นๆ แทน เรื่องพวกนี้ต้องวางเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องดูว่าระยะข้างหน้า ประเทศไทยจะแข่งด้วยสินค้าอะไร และมีสินค้าไหนที่เราแข่งขันได้ หรือสินค้าที่เรารู้สึกว่าตกรถไฟแล้ว เราจะไล่ตามเขาทันหรือไม่ ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตอนนี้”

    ส่งสัญญาณ'คง'ดอกเบี้ยยาว

    นอกจากนี้ นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวถึงความเป็นห่วงของมูดี้ส์ที่ส่งสัญญาณเตือนว่า หากดอกเบี้ยของไทยปรับเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงว่า ยังไม่อยากให้คิดถึงการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย แต่อยากให้มองปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศก่อนว่า จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ

    “อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอะไรเลย ตอนนี้เราเอาปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศว่าจะขับเคลื่อนยังไงให้มันโตได้ตามที่ควรจะเป็นก่อน”

    ในมุมของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นางผ่องเพ็ญ ระบุว่า คงไม่สามารถตอบได้เช่นกัน เพราะต้องขึ้นกับว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ถ้าดูดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 2% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปซึ่งกำลังจะเป็นเป้าหมายใหม่ของการดำเนินนโยบายการเงิน ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 2% เศษ เป็นระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ดังนั้นนโยบายการเงินจึงถือว่า มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่

    “ถามว่ามีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยมากกว่านี้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันต้องดูด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น หากลดดอกเบี้ยลงแล้วช่วยได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเรามีเครื่องมือก็ใช้ แต่ต้องถามว่า ดอกเบี้ยลดแล้วได้อะไร จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เกิดจากดอกเบี้ยต่ำหรือไม่ ดังนั้นเราเองก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี”

    Tags : เศรษฐกิจไทย • กรุงเทพธุรกิจ • ส่งออก • ธปท. • ติดลบ • ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้