พล.ร.อ.พะจุณณ์ จ่อปฏิรูป กม. ให้เป็นของ ปชช. ขณะฉ้อราษฎร์บังหลวง คดีต้องไม่หมดอายุ และรับโทษสูงสุด หนุน สัดส่วน 15 สปช. บวก 5 คนนอก นั่ง กมธ.ยกร่าง รธน. มอง 'บวรศักดิ์' เหมาะ ตำแหน่งประธาน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เปิดเผย สำนักข่าว INN ว่า ต้องการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ต้องมีความเป็นธรรม เท่าเทียมในการดำเนินคดี ขณะที่เรื่องสำคัญของประเทศที่ต้องปฏิรูปคือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเป็นมูลเหตุของการแตกแยก การได้มาซึ่งอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งจะต้องมีบทลงโทษขั้นสูงสุดและรวดเร็ว โดยไม่ควรปล่อยให้หมดอายุความ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่ากรณีผู้หลบหนีคดีไปต่างประเทศ โทษจะต้องไม่สิ้นสุด ซึ่งคดีจะต้องดำเนินต่อจนครบทั้ง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา หรือสิ้นกระบวนความ โดยบุคคลหนีคดีจะต้องหมดสิทธิ์ทางกฎหมายทุกกรณี เพราะตนเองยังหนีคดี จึงไม่ควรมีสิทธิ์ดังกล่าว 'พะจุณณ์'หนุนสปช.บวกคนนอก-'บวรศักดิ์'เหมาะปธ. พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผย สำนักข่าว INN ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีสมาชิก สปช. 15 คน และคนนอก 5 คน เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยพร้อมสนับสนุน หากเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์กับประชาชนที่คาดหวังในตัว สปช. ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับเพื่อให้การปฏิรูปสัมฤทธิ์ผลและประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ขณะที่ส่วนตัวไม่ได้สมัครเป็นหนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานนั้น พล.ร.อ.พะจุณณ์ ระบุว่า ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมาย มีหัวใจที่พร้อมปฏิรูป และทำในสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งนี้ กรณีมีชื่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ติดโผนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม 'อลงกรณ์'เห็นด้วย15สปช.+5คนนอกนั่งกมธ.รธน. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. หรือ วิป สปช. เปิดเผย สำนักข่าว INN ว่า ในวันนี้ สปช. จะมีการประชุม 3 รอบ โดยช่วง 09.00 น. จะเป็นการประชุมของ สปช. 11 ด้าน และ 4 ภาค จากนั้น จะเป็นการประชุมใหญ่ สปช. เพื่อพิจารณาแนวทางสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางวิปจะรายงานมติหลังการประชุมที่จะให้มีสัดส่วน สปช. 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน และส่วนตัวก็เห็นด้วยกับสัดส่วนดังกล่าว ทั้งนี้ สัดส่วน 5 คน จะมาจากพรรคและกลุ่มการเมือง รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพขาดสัดส่วน หรือมีอยู่น้อยในการมีส่วนร่วม เช่น เกษตรกร ทั้งนี้ ความสำเร็จของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น ขึ้นอยู่กับการยอมรับและสามารถทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าในบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์ได้ ดังนั้น การมีส่วนร่วมของผู้เห็นต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นปฏิรูป ด้วยการเปิดกว้างยอมรับ ให้เกิดความไว้ใจ มั่นใจ และสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม